TNN AI ปลดล็อกความเท่าเทียมการศึกษา“ความรู้” มีราคาถูกลง - ลดต้นทุนงานสร้างสรรค์ | TNN Tech Forum 2024

TNN

Tech

AI ปลดล็อกความเท่าเทียมการศึกษา“ความรู้” มีราคาถูกลง - ลดต้นทุนงานสร้างสรรค์ | TNN Tech Forum 2024

AI ปลดล็อกความเท่าเทียมการศึกษา“ความรู้” มีราคาถูกลง - ลดต้นทุนงานสร้างสรรค์ | TNN Tech Forum 2024

“รวิศ หาญอุตสาหะ” ชี้ AI ปฏิวัติโลกการศึกษา ปลดล็อกความเท่าเทียม “ความรู้ราคาถูกลง” ลดต้นทุนงานสร้างสรรค์ แต่ห่วงอาจทำให้ “มนุษย์ฉลาดน้อยกว่าเดิม”

ในงาน TNN Tech Forum หัวข้อ “Uncovering AI ปลดล็อก AI กำหนดทิศทางปัญญาประดิษฐ์” รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ของ Srichand และผู้ก่อตั้ง Mission To The Moon ได้แบ่งปันความเห็นจากประสบการณ์ของเขา รวมถึงข้อมูลที่ได้รับจาก Andrew Ng ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ระดับโลก พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี AI 


การลดต้นทุนการศึกษา และความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น


รวิศ  กล่าวว่า การทรานส์เฟอร์ของเทคโนโลยีเกิดขึ้นหลายรอบ และในแต่ละรอบทำให้ความรู้มีราคาถูกลงมากขึ้น การที่เทคโนโลยีมีส่วนในการเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น มีความสำคัญอย่างมาก เช่น การใช้ AI ในการเรียนรู้ การสอนที่เคยต้องอาศัยครูแบบหนึ่งต่อหนึ่งซึ่งเคยเป็นอภิสิทธิ์ของคนรวยเท่านั้นที่จะทำได้ กลายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ผ่านอุปกรณ์มือถือ เพียงแค่เรามี AI ก็สามารถช่วยให้เราเข้าใจบทเรียนหรือแก้โจทย์ได้เหมือนการเรียนกับครูจริง ๆ ซึ่งทำให้การเรียนรู้แบบส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้ต้นทุนสูงอีกต่อไป


การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนด้วย AI


แม้ว่าจะมีปัญหาบางอย่างที่มนุษย์ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาโลกร้อน แต่เรายังสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งคอมพิวเตอร์และมนุษย์เองไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มนุษย์เรานั้นเก่งในการสร้างสิ่งของ แต่ไม่เก่งด้านการคำนวณผลกระทบที่จะตามมา ซึ่ง AI นั้นมีบทบาทสำคัญในการคำนวณและดีไซน์โมเดลที่ซับซ้อน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เรากำลังเผชิญ หรือแม้กระทั่งย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วได้ 


ทั้งนี้ ศักยภาพของ AI ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่าในอีกสิบปีข้างหน้า AI อาจมีความสามารถในการประมวลผลที่สูงมาก จนสามารถเทียบได้กับ IQ ระดับ 5000 ในขณะที่มีการคาดเดากันว่ามนุษย์ที่ฉลาดที่สุดมี IQ เพียงประมาณ 160 เท่านั้น การที่ AI  จะนำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาใหม่ ๆ แต่อาจเป็นความท้าทายสำหรับมนุษย์ในการรับมือกับผลกระทบที่ตามมา


การประชุม และการนำเสนองานผ่านความคิดสร้างสรรค์


อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือการใช้ AI ในการจัดการประชุม รวิศชี้ให้เห็นว่าการประชุมส่วนใหญ่เสียเวลาไปมาก การใช้ AI ช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเราสามารถใช้ AI ในการเข้าร่วมประชุมและวิเคราะห์ว่าในที่ประชุมนั้นมีหัวข้ออะไรที่เกี่ยวเนื่องกับตัวผู้เข้าประชุมเอง ซึ่งสามรถประหยัดเวลาไปได้มาก 


 AI ยังสามารถสร้างสรรค์ไอเดียจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว เช่น การคิด Tagline ให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งสามารถสร้างขึ้นได้เป็นร้อยๆ ไอเดียภายในเวลาหนึ่งนาที ทำให้กระบวนการคิดและสร้างสรรค์งานเป็นไปอย่างรวดเร็ว


AI กับผลกระทบต่อทักษะของมนุษย์


อย่างไรก็ตาม รวิศยังเตือนว่าการพึ่งพา AI และเทคโนโลยีมากเกินไป  อาจทำให้ทักษะบางอย่างของมนุษย์ลดลง เช่น การสะกดคำ หรือการนำทางโดยไม่ต้องใช้แผนที่ หรือการวางสตอรี่เล่าเรื่องให้เป็นลำดับ การที่ AI มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน อาจทำให้เราไม่ต้องใช้ความสามารถพื้นฐานเหล่านี้เท่าเดิม โดยเฉพาะในเด็ก ๆ ที่เกิดมาในยุคดิจิทัลซึ่งอาจจะสร้างผลกระทบได้ 


สร้างสื่อด้วยต้นทุนที่ลดลง


นอกจากนี้ รวิศยังได้กล่าวถึงการใช้เครื่องมือ AI เช่น ChatGPT, MidJourney และ Runway เพื่อสร้างสื่อในเวลาอันสั้น การที่เราสามารถใช้ AI ช่วยสร้างรูปภาพหรือวิดีโอในเวลาเพียงสองชั่วโมง เป็นการลดต้นทุนและเวลาในการทำงานอย่างมาก ซึ่งเมื่อก่อนการสร้างงานที่มีคุณภาพเช่นนี้ต้องใช้ต้นทุนสูงและใช้เวลานาน สิ่งนี้ช่วยทำให้นักสร้างสรรค์และทีมงานต่างๆ สามารถพัฒนาและนำเสนอผลงานได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ควรระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI ในการสร้างเนื้อหา


งานนี้ทำให้เห็นถึงภาพรวมของการที่ AI กำลังเปลี่ยนแปลงโลก ทั้งในด้านการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์ และการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ เป็นการปลดล็อกศักยภาพใหม่ ๆ แต่ก็ต้องมีการปรับตัวและระมัดระวังในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในระยะยาว.




ภาพจาก: TNN 

ข่าวแนะนำ