TNN นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์และหุ่นยนต์ | TNN Tech Reports

TNN

Tech

นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์และหุ่นยนต์ | TNN Tech Reports

นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์และหุ่นยนต์ | TNN Tech Reports

ในต่างประเทศ มีการพัฒนานวัตกรรมที่จะส่งเสริมทั้งการเรียนรู้คน ไปจนถึงมนุษย์



การส่งเสริมการเรียนรู้ ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญด้านการศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาให้มนุษย์นั้นมีความเข้าใจ ชาญฉลาด มีความสามารถมากขึ้น ที่สำคัญหากมีการต่อยอดความรู้เหล่านั้น ก็จะเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง สังคม ประเทศ และโลกเราได้ในที่สุด 


ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงแต่ มีการส่งเสริมการเรียนรู้ให้มนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาไปจนถึงการเรียนรู้ในเทคโนโลยีหุ่นยนต์อีกด้วย 


“ห้องเรียนบ้านต้นไม้” ในป่าแอมะซอน


ทาแมนดัว เอ็กซ์พิดิชัน (Tamandua Expeditions) บริษัททัวร์เชิงอนุรักษ์ในประเทศเปรู ร่วมกับ จังเกิลคีปเปอร์ (Junglekeepers) องค์กรอนุรักษ์ท้องถิ่นที่อุทิศตนเพื่อการปกป้องพื้นที่ในป่าแอมะซอน และ อูเดมี (Udemy) บริษัทการศึกษาออนไลน์ ทำการสร้าง “ห้องเรียนบ้านต้นไม้” ที่อยู่บนความสูง 32 เมตรเหนือผืนดินในเขตป่าฝนแอมะซอนขึ้นมา


ห้องเรียนบ้านต้นไม้นี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นห้องเรียนสำหรับให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่ในชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองห่างไกล ตัวบ้านมีบันได 141 ขั้น สำหรับใช้ปีนขึ้นสู่ตัวบ้าน ส่วนไม้ที่ใช้สร้างจะนำมาจากแหล่งไม้ที่มีความยั่งยืน เช่น ต้นไม้ในป่าแอมะซอนที่โค่นล้มตามธรรมชาติ ตัวบ้านต้นไม้มีที่พักและห้องน้ำในตัว ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้งอินเทอร์เน็ตดาวเทียมความเร็วสูง รองรับการใช้เรียนรู้ทางไกล และการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก 


ทีมงานต้องใช้แรงงานคนถึง 30 คน ทำงานตลอดทั้งวัน และใช้เวลากว่า 4 เดือน กว่าจะสร้างบ้านต้นไม้ได้แล้วเสร็จ 


โดยบ้านต้นไม้หลังนี้ จะทำหน้าที่เป็นเสมือนห้องเรียนทางไกลใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้สำหรับนักวิจัยและชนพื้นเมือง ซึ่งหลายคนออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 11 ขวบ เพื่อเริ่มทำงานผิดกฎหมาย เช่น การตัดไม้ หรือการทำเหมืองเถื่อน ซึ่งทางองค์กรหวังว่าสถานที่แห่งนี้จะช่วยยกระดับการศึกษา และช่วยเปิดโอกาสทางอาชีพของพวกเขาได้มากขึ้น


และนอกจากจะใช้เป็นห้องเรียนแล้ว บ้านต้นไม้แห่งนี้ ยังทำหน้าที่เป็นจุดแวะพักของนักท่องเที่ยว ให้ได้มาค้างแรมพักผ่อนหย่อนใจชมวิวบนยอดไม้ โดยเข้าพักได้ในราคาคืนละ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 51,000 บาท 


“หุ่นยนต์เพื่อนซี้” ฝึกเขียนโคดได้ในตัว


“ดอลี” (Doly) เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่ได้มีแค่ความน่ารัก แต่มาพร้อมกับความสามารถในการเป็นผู้ช่วยรับคำสั่งเสียงแบบอัจฉริยะ และยังสามารถใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับฝึกการเขียนโปรแกรมคำสั่งให้กับผู้ใช้งานได้ แม้จะเป็นมือใหม่ก็ตาม


ดอลีเป็นผลงานจากบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยี ลิมิตบิต (Limitbit) จากประเทศแคนาดา ทางบริษัทให้คำนิยามว่าหุ่นยนต์ตัวนี้ว่าเป็นการผสมผสาน

ระหว่างหุ่นยนต์เพื่อนเล่น หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา และแพลตฟอร์มสำหรับการฝึกหัดด้านโปรแกรมเข้าด้วยกัน


การออกแบบหุ่นยนต์จะเน้นให้ดูน่ารัก เป็นมิตร ด้วยดวงตากลมโตขนาดใหญ่ 2 ข้าง มาพร้อมกับจอแสดงภาพ สามารถบ่งบอกอารมณ์ผ่านสายตา และสามารถใช้เป็นจอภาพแสดงข้อมูลต่าง ๆ เช่น เวลา และสภาพอากาศ


ตัวหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปมาด้วยล้อแบบรถถัง  สามารถยกแขนทำท่าทางต่าง ๆ มีกล้อง 8 ล้านพิกเซลในตัว ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองโลกจากมุมมองของหุ่นยนต์  ผ่านอุปกรณ์มือถือที่จับคู่ไว้ได้อีกด้วย


นอกจากนี้ ด้วยการผสานการใช้งานคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ราสเบอร์รี่ พาย ซีเอ็มโฟร์ (Raspberry Pi CM4) และการใช้งานปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน ทำให้ตัวหุ่นยนต์สามารถรับฟังคำสั่งเสียง และจะปรับปรุงพฤติกรรมและบุคลิกของมัน ตอบสนองไปตามการใช้งานของเจ้าของ 


และในขณะเดียวกัน เรายังสามารถปรับแต่งการใช้งานบนแพลตฟอร์มแบบโอเพ่นซอร์ส และชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลเซ็นเซอร์ การควบคุม การเคลื่อนไหว และความสามารถของ AI ที่บริษัทระบุว่าสามารถปรับแต่งใช้งานได้ง่ายสำหรับคนแทบทุกวัย


โดยปัจจุบัน ดอลียังอยู่ในระหว่างช่วงระดมทุนการผลิตจากบริษัท โดยตั้งราคาจำหน่ายไว้เบื้องต้นอยู่ที่ 289 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,230 บาท และมีแผนที่จะจัดส่งภายในเดือนสิงหาคมปี 2024 นี้


Phoenix เปิดตัว “หุ่นรุ่น 7”เรียนรู้งานได้ใน 24 ชั่วโมง 


แซงค์ทัวร์รี่ เอไอ (Sanctuary AI) บริษัทด้านหุ่นยนต์จากแคนาดา เปิดตัวหุ่นยนต์หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ ที่ชื่อว่า “ฟีนิกซ์ (Phoenix) รุ่นที่ 7”


ตามข้อมูลของบริษัท หุ่นยนต์นี้จะเป็นเวอร์ชันที่ซับซ้อนที่สุด ออกแบบมาเพื่อเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และได้พัฒนาให้มันสามารถทำงานได้เร็วและฉลาดยิ่งขึ้น 


รวมถึงยังมีการอัปเกรดฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ที่สำคัญ ปรับปรุงความยืดหยุ่นของข้อมือ มือ และข้อศอก รวมถึงยังได้มีการปรับปรุงการมองเห็นและการรับรู้สัมผัสของหุ่นยนต์ให้ดีขึ้นด้วย


การปรับปรุงเหล่านี้ช่วยให้แต่ละส่วนของหุ่นยนต์ สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ให้เหลือเพียงแค่ 24 ชั่วโมง เท่านั้น โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์โมเดลภาษาขนาดใหญ่ คาร์บอน (Carbon) เพื่อช่วยให้หุ่นยนต์สามารถสังเกต เรียนรู้ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจจะทำให้มันกลายเป็นหุ่นยนต์ AI ซึ่งสามารถใช้เพื่อช่วยเหลือคนงานมนุษย์ ในงานที่ต้องใช้แรง หรืองานที่มีความซ้ำซากได้ดีขึ้นด้วย 


สำหรับหุ่นยนต์ฟินิกซ์ที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน มีความสูงรวม 170 เซนติเมตร น้ำหนัก 70 กิโลกรัม บรรทุกน้ำหนักได้สูงสุด 25 กิโลกรัม และเดินด้วยความเร็วที่ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แขนของหุ่นยนต์หมุนอิสระได้ 25 องศา และยังใช้เทคโนโลยีข้อต่อไฮโดรลิกส์ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าดีกว่าแบบมอเตอร์ไฟฟ้า โดยทำให้มันเคลื่อนไหวได้แม่นยำ รวดเร็ว และแข็งแกร่งขึ้น

ข่าวแนะนำ