ทดสอบใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดระยะไกล หมออยู่โรม ผู้ป่วยอยู่จีน แต่ผ่าตัดได้ไม่มีปัญหา
แพทย์จีน ทดสอบผ่าตัดทางไกลกว่า 8,000 กิโลเมตรครั้งแรกของโลก และประสบความสำเร็จ ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาชีวิตผู้คนได้อีกมาก
กรุงโรม ประเทศอิตาลี อยู่ห่างจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนประมาณ 8,000 กิโลเมตร หากเดินทางโดยเครื่องบินจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง แต่ด้วยความก้าวล้ำของเทคโลโลยี ทำให้แพทย์ที่อยู่ที่กรุงโรม สามารถผ่าตัดผู้ป่วยที่อยู่ในกรุงปักกิ่งได้ โดยมีความหน่วงไม่ถึง 3 วินาที ผ่านหุ่นยนต์ผ่าตัดสุดล้ำ
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ผ่าตัดตัวแรกของโลก เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 โดยมาจากแนวคิดขององค์การนาซา (NASA) ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ระยะไกลแก่นักบินอวกาศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ออกสู่สาธารณะในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งระบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ ระบบดาวินซี (da Vinci Surgical System) ที่ออกมาเมื่อปี 1998 จากนั้นได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเงินทุนจากภาคเอกชนประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.83 แสนล้านบาทต่อปี จนกระทั่งในปี 2000 ได้รับการอนุมัติโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ ทำให้ระบบดาวินซี ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ
ขณะที่การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ระยะไกลครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2001 แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ความหน่วงของสัญญาณ ที่อาจทำให้คำสั่งของแพทย์ผ่าตัด กับการตอบสนองของหุ่นยนต์เกิดความล่าช้า และอาจทำให้ลดความแม่นยำของการผ่าตัดลงได้ ทำให้การผ่าตัดแบบเรียลไทม์เป็นไปได้ยากมาก ๆ ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารก้าวล้ำไปอย่างมาก อย่างเทคโนโลยี 5G ทำให้หุ่นยนต์ตอบสนองต่อคำสั่งของแพทย์ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
การผ่าตัดของแพทย์จีนล่าสุดนี้ ดำเนินการระหว่างวันที่ 5 - 7 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา จัดโดย Chinese Academy of Sciences และแผนกระบบทางเดินปัสสาวะที่ Third Medical Center of the People’s Liberation Army (PLA) โดยพวกเขาได้อัปเดตระบบใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการผ่าตัดทางไกลที่สุด และลดความเสี่ยงของข้อผิดพลาด ทำให้การผ่าตัดบริเวณต่อมลูกหมากของผู้ป่วยมะเร็งทำได้เสร็จ
ศัลยแพทย์ชื่อ จาง ซู (Zhang Xu) ซึ่งเป็นผู้นำการผ่าตัดในครั้งนี้บอกว่าระยะเวลาการหน่วงของคำสั่งหมอและการตอบสนองของหุ่นยนต์ น้อยกว่า 3 วินาที ทำให้การผ่าตัดทางไกลเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ว่าผู้ป่วยและแพทย์จะอยู่ห่างไกลกันประมาณ 8,000 กิโลเมตร โดยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดอยู่ที่กรุงโรมประเทศอิตาลี ส่วนผู้ป่วยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งระยะทางไกลสูงสุดที่หุ่นยนต์สามารถผ่าตัดได้ประมาณ 20,000 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าระยะทางจากกรุงเทพ ประเทศไทย ไปยังกรุงลิมา (Lima) เมืองหลวงของประเทศเปรู ตามการรายงานของ Bastillepost สื่อออนไลน์ในฮ่องกง
หลังจากนี้ เทคโนโลยีการผ่าตัดทางไกลจะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมาก เช่น นำไปใช้ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก หรือในช่วงที่เกิดโรดระบาด เพื่อลดการสัมผัสระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งในอนาคต ทีมแพทย์ตั้งเป้าจะพัฒนาการผ่าตัดทางไกลเพื่อนำไปใช้ทางการทหารด้วย
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering
ที่มารูปภาพ Shoremedicalcenter
ข่าวแนะนำ