TNN ล็อกฮีดมาร์ตินเผยแนวคิดฝูงบินผสมโดรนกับเอฟ 35 ยกระดับทัพฟ้าของสหรัฐฯ

TNN

Tech

ล็อกฮีดมาร์ตินเผยแนวคิดฝูงบินผสมโดรนกับเอฟ 35 ยกระดับทัพฟ้าของสหรัฐฯ

ล็อกฮีดมาร์ตินเผยแนวคิดฝูงบินผสมโดรนกับเอฟ 35 ยกระดับทัพฟ้าของสหรัฐฯ

Lockheed Martin เสนอไอเดียสร้างระบบที่ทำให้โดรนและเครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ทำงานในลักษณะฝูงบินร่วมผสมเพื่อยกมิติการรบให้ล้ำไปอีกขั้น

การนำโดรนมาใช้ทางการทหารเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน เช่นในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในกองทัพสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่กองทัพอากาศไทยที่มีโครงการ RTAF U1-M โดรนติดอาวุธจากบริษัทอาร์วี คอนเน็กซ์ (RV Connex) แต่ว่าบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐอเมริกาได้เสนอแนวคิดในการสร้างฝูงบินผสมระหว่างเครื่องบินขับไล่ปกติกับอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และทำงานร่วมกัน


ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เป็นผู้ผลิตอากาศยานชื่อดังของโลกที่ทำทั้งเครื่องบินรบ เช่น เครื่องบินขับไล่ล่องหนสมรรถนะสูง เอฟ 35 ไลท์นิง ทู (F-35 Lightning II) ที่กองทัพอากาศไทยสนใจสั่งซื้อ และระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial System: UAS) อย่างอาร์คิว 170 เซนทิเนล (RQ-170 Sentinel) ที่มีระบบตรวจการณ์ล้ำสมัย


ผลงานส่วนใหญ่ที่รวมถึงไอเดียการรวมฝูงบินระหว่างโดรนกับเครื่องบินรบในครั้งนี้เกิดขึ้นจากมันสมองของสกั๊งค์ เวิร์คส (Skunk Works) ทีมงานเดียวกันกับที่ออกแบบเครื่องบินในภาพยนตร์ท็อปกัน มาเวอริค (Top Gun: Maverick) ที่เคยถูกอ้างว่าทำให้ดาวเทียมด้านการทหารของจีนสับสนนึกว่าเป็นเครื่องบินรบจริงมาแล้ว


ะบบใหม่ที่ทีมสกั๊งค์ เวิร์คส (Skunk Works) เสนอเป็นการนำโดรนประมาณ 5 - 6 ลำ เข้ามารวมใน 1 ฝูงบิน ที่จะมีเครื่องบินรบทั้งหมดไม่เกิน 18 ลำ เพื่อทำหน้าที่ประสานการลาดตระเวน (Reconnaissance) ด้วยระบบเครือข่ายการเชื่อมต่อของฝูงบิน และทำงานด้วย AI ที่พัฒนาโดยล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) เพื่อช่วยตรวจหาจรวดต่อต้านอากาศยานจากพื้นสู่อากาศที่ตกหล่นจากการตรวจสอบของนักบินเครื่องบินขับไล่ พร้อมกับทำหน้าที่ช่วยยิงด้วยอาวุธที่ติดตั้งใต้โดรนจากการจับเป้าของนักบิน และทำหน้าที่เป็นเป้าลวงในกรณีที่เป้าลวง (Flares) ของเครื่องบินขับไล่หมด 


ระบบ UAS ที่สกั๊งค์ เวิร์คส (Skunk Works) เสนอยังช่วยให้ฝูงบินมีอำนาจการยิงที่มากขึ้น จากการที่โดรนก็สามารถติดตั้งอาวุธได้ไม่ต่างจากเครื่องบินรบ อีกทั้งยังนำเสนอยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบตรวจสอบทางไกล (Remote Sensing) ที่โคจรบนวงโคจรต่ำ (Low Orbit Earth: LEO) เพื่อยกขีดความสามารถการตรวจสอบภัยคุกคามทางอากาศในอนาคต


ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ยังร่วมมือกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในโรงเรียนการบินของกองทัพที่แคลิฟอร์เนีย เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการนำระบบดังกล่าวมาใช้งานร่วมกันกับเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 (F-16) เครื่องบินรบที่มีประจำการมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยทั้งหมดนี้เป็นพันธกิจที่ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) และกองทัพสหรัฐฯ เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการทหารให้เหนือกว่ากองทัพจีน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญของยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ โดยระบบนี้คาดว่าจะพร้อมนำมาทดสอบจริงภายในช่วงปี 2030 ที่จะถึงนี้






ที่มาข้อมูล DefenseNews

ที่มารูปภาพ Lockheed Martin


ข่าวแนะนำ