นวัตกรรม "หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด" จดสิทธิบัตรเครื่องแรกของไทย เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง
กรมการแพทย์โชว์นวัตกรรม "หุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด" ฝีมือคนไทย จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เป็นเครื่องแรกของไทย เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในด้านมะเร็งครบวงจร ผลักดันการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่ยุคดิจิทัล ทำให้การรักษาและเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการ Digital transformation อย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้รักษาผู้ป่วย ลดระยะเวลาการรอคอย การนอนโรงพยาบาล เพิ่มความรวดเร็วถูกต้อง ปลอดภัย และแม่นยำ รวมถึงลดภาระงานของเจ้าหน้าที่
โดยหนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทยและทั่วโลกคือโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมะเร็งปัจจุบันประมาณ 450,000 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 ราย เสียชีวิตปีละประมาณ 8 หมื่นราย หากผู้ป่วยการเข้าถึงบริการและรับการรักษาอย่างเหมาะสมในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสหายขาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งวิธีการรักษาหลัก ๆ ของโรคมะเร็ง ได้แก่ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด และโดยเฉพาะการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการรักษาโรคมะเร็ง
กรมการแพทย์ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและการขยายผลไปสู่ระบบสุขภาพ ปัจจุบันมีหุ่นยนต์เคมีบำบัดในสังกัด จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานีเป็นหน่วยงานที่พัฒนาหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด เป็นเครื่องแรกของประเทศไทย คิดค้นโดยคนไทยและเป็นต้นแบบการส่งยาเคมีบำบัดไปสู่โรงพยาบาลใกล้เคียงในเขตสุขภาพที่ 8 ให้ยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วย รวม 5,529 ราย และยังขยายผลการใช้เพิ่มไปยังโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 4 ได้ให้ยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วย รวม 5,243 ราย และโรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 10 โดยได้ให้ยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วย รวม 6,000 ราย จากผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเลิศรัฐ 2567 ระดับดีเด่น (Best of The Best) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข มะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer anywhere)
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กรมการแพทย์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ผสมยาเคมีบำบัด เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย สามารถผสมยาเคมีบำบัดได้ 24 ชนิด มีความแม่นยำในการเตรียมยา มากกว่ามนุษย์ (98.24% : 95.05%) มีความปลอดภัย ทำงานด้วยแขนกล ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติในสภาวะปลอดเชื้อ ลดการปนเปื้อน รั่วไหลของยาเคมีบำบัดสู่สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานการเตรียมยา ภายใต้การกำกับดูแลของเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยในด้านความปลอดภัยและแม่นยำเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อบุคลากรรวมถึงผู้ป่วยมะเร็ง โดยเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ปี 2562 ทดสอบระบบแลได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ ในปี 2564 และใช้งานจริงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา สามารถลดการนำเข้าเครื่องมือราคาแพงได้ และมีความสะดวกในการใช้งานมากกว่าเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ข้อมูลและภาพ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ข่าวแนะนำ