โรคหัด โรคติดเชื้อไวรัสที่ควรรู้จักและป้องกัน

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหัด (Measles) เกิดจากเชื้อไวรัส Measles virus ซึ่งอยู่ในตระกูล Paramyxoviridae หลังจากได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 10-14 วัน มีอาการ 2 ระยะ 

1) อาการนำมักเริ่มจากไข้สูง ไอแห้ง น้ำมูกไหล ตาแดงและไวต่อแสง มีจุดขาวเล็กๆ บริเวณกระพุ้งแก้ม (Koplik’s spots) เป็นลักษณะจำเพาะของโรคหัด 

2) ระยะผื่นขึ้น มีผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้า มักเริ่มที่หน้าผาก ไรผม ลามไปตามลำตัว แขน และขา ผื่นมักขึ้นภายใน 3-4 วัน หลังจากเริ่ม มีไข้ ผื่นจะค่อย ๆ จางหายภายใน 7-10 วัน



โรคหัด โรคติดเชื้อไวรัสที่ควรรู้จักและป้องกัน

สรุปข่าว

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์กล่าว โรคหัด (Measles) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่าย ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยจากการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

นายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เป็นโรคหัด จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ สมองอักเสบ โรคหัดสามารถป้องกันได้โดยการวัคซีนป้องกันโรคหัด เป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง โดยวัคซีนที่ใช้คือ MMR (Measles, Mumps, and Rubella) ซึ่งป้องกันได้ทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งเด็กควรได้รับวัคซีน MMR เข็มแรกที่อายุ 9-12 เดือน และเข็มที่สองที่อายุ 18 เดือน วัคซีน MMR ยังสามารถฉีดให้ผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 



แพทย์หญิงนิอร บุญเผื่อน นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่าหากติดโรคหัดแล้วไม่มีการรักษาจำเพาะ แต่สามารถดูแลแบบประคับประคอง ได้แก่ การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เช็ดตัวลดไข้และใช้ยาลดไข้เช่น พาราเซตามอล หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ซึม หรือชักควรรีบพบแพทย์ทันที การรักษาโรคหัดอีกวิธีคือ การใช้วิตามินเอ เป็นแนวทางที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดยเฉพาะในเด็กที่ขาดวิตามินเอหรือมีภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากวิตามินเอช่วยลดความรุนแรงของโรคลดภาวะแทรกซ้อนรวมจนถึงลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งการรักษาโดยการใช้วิตามินเอเป็นเพียงการรักษาเสริมไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสหัดได้โดยตรงควรได้รับการดูแลรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ดูแลภาวะขาดน้ำ และการแยกตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หากเด็กมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ซึมลง หรือมีภาวะแทรกซ้อน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


ที่มาข้อมูล : กรมการแพทย์

ที่มารูปภาพ : Canva