TNN 14 พ.ย. "วันเบาหวานโลก" หยุดส่งต่อโรคเบาหวาน

TNN

สังคม

14 พ.ย. "วันเบาหวานโลก" หยุดส่งต่อโรคเบาหวาน

14 พ.ย. วันเบาหวานโลก หยุดส่งต่อโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของคนไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยเพิ่มกว่า 3 แสนราย กรมการแพทย์รณรงค์หยุดส่งต่อโรคเบาหวาน ในวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อตอบสนองต่อความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน โดยในประเทศไทยยังคงมีผู้เป็นเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย และพบว่ามีผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานจำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยและไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน เนื่องจากไม่ตระหนักถึงอาการและความเสี่ยง ทำให้ตรวจคัดกรองล่าช้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลตนเองให้ห่างไกลโรคเบาหวาน  อย่าส่งต่อโรคเบาหวาน 


14 พ.ย. วันเบาหวานโลก หยุดส่งต่อโรคเบาหวาน


นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ชื่อของโรคเบาหวานมาจากการที่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากจนมีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า "เบาหวาน" หากปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ไปนาน ๆ โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เช่น ไตวาย ตาบอด เส้นเลือดสมองตีบ (stroke) เส้นเลือดหัวใจตีบ แผลเรื้อรังหายยากจนอาจถึงขั้นต้องตัดขา ตามมาในที่สุด 


ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่ 

1. อายุมากกว่า 35 ปี ขึ้นไป 

2. ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 23 และสัดส่วนของรอบเอวต่อส่วนสูงมากกว่า 0.5 

3. มีประวัติคนในครอบครัวญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน 

4. ช่วงตั้งครรภ์มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน 

5. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคความดันสูง 

6. ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ โรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เป็นต้น


ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี แนะการป้องกันโรคเบาหวานควรปฏิบัติ ดังนี้ 

1. เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เน้นผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัด และธัญพืชต่าง ๆ ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม 

2. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

3. ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

4. ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

5. ควรตรวจสุขภาพประจำปี

6. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหากจำเป็นต้องรักษาด้วยการกินหรือฉีดยาควรกินหรือฉีดยาให้สม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ควรหยุดยาเองเพราะจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา


ข้อมูลและภาพ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง