เผย 3 ปัจจัย “เกิดโรคนอนไม่หลับ” ปล่อยไว้นานส่งผลเสียสุขภาพ
กรมการแพทย์เผย 3 ปัจจัย “เกิดโรคนอนไม่หลัง” หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพควรรีบไปพบแพทย์
วันนี้ ( 19 มี.ค. 65 )นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับระดับโลก (The World Association of Sleep Medicine : WASM) ได้กำหนดให้วันศุกร์สัปดาห์ที่ 2 เดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันนอนหลับโลก (World Sleep Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนัก เห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับ และสุขอนามัยการนอนที่ดีในการนอน
สำหรับคำขวัญวันนอนหลับโลกในปีนี้คือ “นอนดีมีวินัย สร้างโลกสดใส จิตใจแข็งแรง” เนื่องจากการนอนหลับถือว่า
เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ เพราะเวลาที่นอนหลับ เป็นช่วงที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
ได้พักผ่อน และซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย บันทึกความจำ ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และปรับสมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ
ในร่างกาย หากเรานอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ร่างกายจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง สดชื่นแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย
แถมยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ แต่ในสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคจากการนอนหลับ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนไม่หลับ ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน พฤติกรรมและการขยับผิดปกติอื่นๆขณะนอนหลับ เช่น นอนละเมอ นอนฝันร้าย นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน โรคความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ทางกายและจิตใจ มีอาการง่วงมากกว่าปกติในตอนกลางวัน สมาธิลดลง ความจำแย่ลง จนส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือทำงาน และยังเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หรืออุบัติเหตุจากการทำงานได้
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ทำให้มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เกิดภาวะอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง โรคซึมเศร้า รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยมากขึ้นกว่าปกติ อาการนอนไม่หลับสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย โดยพบมากในผู้หญิง
และผู้สูงอายุ
สาเหตุของการนอนไม่หลับ สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- ปัจจัยทางกาย
1.เกิดจากการผิดปกติของโรคทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหอบหืด ความผิดปกติของฮอร์โมน ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน โรคปอดเรื้อรังโรดกรดไหลย้อน
2.เกิดจากความผิดปกติของโรคจากการหลับ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน พฤติกรรมและการขยับผิดปกติขณะหลับ
- โรคแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต ปัจจัยทางจิตใจ
1.เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันส่งผลกระทบต่อจิตใจ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ หรือไม่สบาย
2.เกิดจากโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้าโรควิตกกังวล โรคจิตเวช ยาหรือสารที่มีผลต่อการนอนหลับ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาแก้แพ้ ชา กาแฟ
-ปัจจัยสภาพแวดล้อม
1.สภาพห้องนอนมีแสงสว่างมากเกินไป มีเสียงดังรบกวน อุณหภูมิร้อนเกินไป
2.รู้สึกแปลกสถานที่ เมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่นอน 3.การนอนไม่เป็นเวลา เช่น การทำงานกะดึก ทำกิจกรรมตื่นเต้นผาดโผนก่อนนอน
โดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ได้เปิดให้บริการคลินิกและศูนย์โรคการนอนหลับ ให้คำปรึกษาและตรวจรักษาอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ในทุกวันพุธ เวลา 07.00 – 12.00 น. ณ คลินิกผู้ป่วยนอก ศูนย์โรคการนอนหลับ ชั้น 2 อาคาร 8
ข้อมูลจาก : กรมการแพทย์
ภาพจาก : AFP