

สรุปข่าว
หลายคนที่ชอบทำกิจกรรมตอนกลางคืน เช่น ดูละคร ทำงาน เล่นเกม เล่นมือถือ ทำให้เหลือเวลาในการนอนพักผ่อนน้อย และต้องตื่นไปทำกิจกรรมในตอนเช้า จนเกิดการนอนไม่เพียงพอหรือที่เราเรียกกันว่า “อดนอน” ทำให้ส่งผลเสียในหลาย ๆ ด้าน เช่น สมาธิน้อยลง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ลำบาก หงุดหงิดง่าย
ซึ่งหากอดนอนในระยะยาวอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เจ็บป่วยง่าย หรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความจำ การเรียนรู้ กระบวนการความคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกับวัยเรียนและวัยทำงาน
การนอนชดเชยเมื่ออดนอน หลายคนอาจคิดว่าอดนอนนาน ๆ แล้วไปนอนชดเชยตอนสุดสัปดาห์ก็ได้ แท้จริงแล้ววิธีนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ควรให้เวลากับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ควรนอนให้มีคุณภาพ นอนให้เพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดี
การนอนไม่พอหรืออดนอน และพยายามนอนชดเชย นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังส่งผลต่อฮอร์โมนที่สำคัญซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ทำให้หิวบ่อยขึ้นและมักรับประทานผิดเวลา ระบบการย่อยอาหารของร่างกายเสียสมดุล อาจทำให้มีไขมันเกาะที่บริเวณรอบเอว ระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ทั้งยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ สมองขาดเลือดหล่อเลี้ยง และโรคเบาหวานได้ด้วย
การนอนอย่างมีคุณภาพ ควรเคลิ้มหลับภายใน 30 นาที หลังจากเข้านอน นอนหลับสนิทตลอดคืน ตื่นไม่เกิน 1 ครั้ง หรือตื่นแล้วใช้เวลาน้อยกว่า 20 นาที ในการกลับไปนอนหลับต่อได้ ผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7 - 9 ชั่วโมง ซึ่งการนอนอย่างมีคุณภาพนั้นทำได้ไม่ยาก ดังนี้
>> เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา
>> จัดห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอนหลับ เช่น อุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ไม่มีแสงรบกวน ไม่มีเสียงดัง
>> งดการใช้มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ช่วง 30 นาทีก่อนเข้านอน
>> งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ก่อนเข้านอน
>> ไม่ออกกำลังกายหักโหมก่อนนอน
ที่มา : สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth
ที่มาข้อมูล : -