
องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อมูลล่าสุด พบว่าในปี 2567 มีเพียง 7 ประเทศทั่วโลกที่มีคุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐาน ขณะที่นักวิจัยเตือนว่าการรับมือกับมลพิษทางอากาศอาจยากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ ยุติโครงการติดตามคุณภาพอากาศทั่วโลก
ข้อมูลจากไอคิวแอร์ (IQAir) บริษัทตรวจสอบคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า ประเทศที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บาฮามาส บาร์เบโดส เกรเนดา เอสโตเนีย และไอซ์แลนด์ ขณะเดียวกัน ชาด และ บังกลาเทศ ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก โดยระดับหมอกควันเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานของ WHO ถึง 15 เท่า

สรุปข่าว
อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนข้อมูลด้านคุณภาพอากาศในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา อาจส่งผลให้การประเมินสถานการณ์มลพิษทั่วโลกไม่ชัดเจน เนื่องจากหลายประเทศกำลังพัฒนาอาศัยเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสถานทูตและสถานกงสุลของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ถูกยุติไปแล้ว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ยุติโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ และลบข้อมูลคุณภาพอากาศที่เก็บรวบรวมมานานกว่า 17 ปีออกจากเว็บไซต์ airnow.gov ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศในแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีแหล่งข้อมูลอื่น
นักวิจัยเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมีส่วนทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดไฟป่าที่รุนแรงและยาวนานขึ้นในบางพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้ ขณะที่การปิดโครงการติดตามคุณภาพอากาศของสหรัฐฯ อาจทำให้ 34 ประเทศขาดข้อมูลด้านมลพิษที่เชื่อถือได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมาตรการรับมือในอนาคต