วงการแพทย์ตื่นตัว ปรับวิธีการรักษา รับมือคนไข้ยุคโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อเกิดไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก เช่น เหตุไฟป่าครั้งใหญ่ในลอสแอนเจลิสที่เผาผลาญพื้นที่กว่าแสนไร่ในเดือนมกราคม แม้ว่าจะสามารถควบคุมเพลิงได้ภายในหนึ่งเดือน แต่ผลกระทบด้านสุขภาพจากควันพิษและเถ้าถ่านยังคงอยู่ ซึ่งกระตุ้นให้แพทย์และนักวิจัยต้องปรับวิธีวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ไฟป่าในเมืองไม่ได้เป็นเพียงการเผาไหม้ของพืชพรรณธรรมชาติ แต่ยังรวมถึงอาคาร บ้านเรือน และรถยนต์ ซึ่งทำให้ควันไฟมีสารพิษที่อันตรายกว่าไฟป่าทั่วไป 

ดร.แอนโทนี เกอร์เบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดระบุว่า ควันจากไฟป่าในเมืองอาจมีสารอันตราย เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ แร่ใยหิน และโลหะหนัก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และภาวะสมองเสื่อม เมื่อค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับอันตราย ดร.เกอร์เบอร์แนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ปิดหน้าต่าง ใช้เครื่องฟอกอากาศ HEPA และสวมหน้ากาก N95 โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ควรมีแผนป้องกันล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสมลพิษ

วงการแพทย์ตื่นตัว ปรับวิธีการรักษา รับมือคนไข้ยุคโลกร้อน

สรุปข่าว

วงการแพทย์สหรัฐฯ กำลังปรับแนวทางรักษา เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพจากไฟป่า มลพิษ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน โดยเน้นการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคผ่านมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากปัญหาทางเดินหายใจแล้ว ดร.เคที แมคนามารา นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจาก UCLA ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและคนทำงานกลางแจ้งที่ต้องเผชิญกับความร้อนจัด ทีมวิจัยของเธอพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เช่น อัตราการเข้าห้องฉุกเฉินจากโรคหัวใจและไตล้มเหลว ซึ่งเป็นผลจากคลื่นความร้อน

ศูนย์ CLIMA ของ USC ได้รับทุนวิจัย 4.1 ล้านดอลลาร์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อสุขภาพ โดยเน้นการเก็บข้อมูลมลพิษในอากาศและการแพร่กระจายของสารพิษจากไฟป่า ศูนย์ฯ ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเด็กลอสแอนเจลิสและคณะแพทยศาสตร์ของ USC เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้ในการรักษาผู้ป่วย

ดร.รมา ฮาบเร ผู้อำนวยการศูนย์ CLIMA กล่าวว่า แพทย์ในปัจจุบันต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วย ไม่ใช่แค่พันธุกรรมเพียงอย่างเดียว เธอเน้นว่ามลพิษทางอากาศไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ปอดเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและหลอดเลือด สมอง ระบบเผาผลาญ และแม้กระทั่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์

ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่ส่งผลต่อสุขภาพในวงกว้าง โรงเรียนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วสหรัฐฯ กำลังปรับหลักสูตรและแนวทางการรักษาเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดจากไฟป่า มลพิษ และคลื่นความร้อน แพทย์ยุคใหม่จึงต้องมองสุขภาพของผู้ป่วยผ่าน "เลนส์สภาพอากาศ" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคภัยที่เกิดจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มาข้อมูล : insideclimatenews.org

ที่มารูปภาพ : Reuters