เด็กหลุดจากระบบ 3 แสนคน ได้กลับมาเรียนแล้ว กสศ. ผลักดัน โมเดลตาข่ายการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดงาน Equity Day ชวนสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเด็กทุกคน กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเด็กและเยาวชนที่เลือกเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากโครงการ Thailand Zero Dropout ทั่วประเทศ มาแสดงศักยภาพ และความสามารถที่หลากหลาย เพื่อพิสูจน์ว่า หากสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็กแล้ว เด็กทุกคนสามารถพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
‘กัน’ บัณฑิตา มากบำรุง ตัวแทนเด็กและเยาวชนจากโครงการ Thailand Zero Dropout กล่าวในหัวข้อ เปิดหัวใจฟังเสียงของเรา ระบุว่า เด็กทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกชีวิตของตัวเอง แต่ก่อนจะไปถึงการตัดสินใจเลือก พวกเขาสมควรได้รับรู้ข้อมูลที่เหมาะสม ดังนั้นในการเติบโตแต่ละขั้นของเด็ก จึงต้องมีสามสถาบันหลักคอยช่วยพยุง คือ
1.สถาบันครอบครัว ซึ่งอาจเป็นครอบครัวจริง ๆ หรือคือพื้นที่หนึ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวได้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เติบโตด้วยตัวเองอย่างมั่นใจ
2.สถาบันการศึกษา ที่ต้องเปรียบเหมือนซูเปอร์มาเก็ตให้เด็กสามารถเลือกซื้อเลือกหยิบสิ่งที่จำเป็นและเหมาะสมกับบริบทชีวิต
และ 3.สถาบันการใช้ชีวิต ที่จะให้บททดสอบจริงเพื่อรู้ว่าชีวิตนั้นมีอะไรมากกว่าบทเรียนในโรงเรียน และเพื่อเรียนรู้การต่อสู้อุปสรรคด้วยตนเอง และท้ายที่สุด ในทุกขั้นตอนเติบโต ผู้ใหญ่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างยิ่งในฐานะแรงขับเคลื่อนให้เด็กคนหนึ่งเขยิบเข้าใกล้ความฝันได้มากขึ้น
สรุปข่าว
“กสศ. และภาคีถอดบทเรียนจากการค้นหา และช่วยเหลือ พบว่า เด็ก ๆ เหล่านี้มีบาดแผลทางใจ ที่ฝังลึกส่งผลต่อโอกาสการเรียนรู้และพฤติกรรม บาดแผลเหล่านี้ คือความรุนแรงที่มาจาก ครอบครัว ผู้คนรอบข้าง โรงเรียน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นการช่วยเหลือจึงต้องเริ่มต้นด้วยการฟื้นฟู เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยระบบการจัดการรายกรณี เพื่อให้มีความพร้อมก่อนเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กรายคน”
นายพัฒนะพงษ์ ระบุว่า การช่วยเหลือที่ได้ผลและเด็กไม่หลุดจากระบบซ้ำ ต้องอาศัยปัจจัย 2 ด้าน ได้แก่ 1.การนำเด็ก ๆ กลับมาสู่ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นพื้นที่ที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีสิทธิ มีโอกาส มีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ เคารพในความแตกต่างหลากหลาย และไม่ว่าจะมีข้อจำกัดใดในชีวิต รัฐมีระบบสนับสนุนอย่างครอบคลุม ที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถเติบโต พัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพ และเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยใครหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งสังคม ชุมชน โรงเรียน ครอบครัว ต้องช่วยกัน 2.การศึกษา ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีหลายทางเลือก ตอบโจทย์ชีวิต เอื้อต่อ ‘ความแตกต่าง หลากหลายของผู้เรียนทุกคน’ และเด็กต้องมีส่วนร่วมในการออกแบบ
ผู้ช่วย ผจก.กสศ. ยังเปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่ กสศ. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยเหลือเด็กนอกระบบในพื้นที่ ได้คิดค้นและนำร่อง โมเดล “ตาข่ายการศึกษา” ที่มีทางเลือกการเรียนรู้หลายรูปแบบ ตอบสนองปัญหาหรือข้อจำกัดของเด็ก ๆ ตอบโจทย์ทั้งการปัองกัน และการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้คืนกลับมาอย่างได้ผลและไม่หลุดซ้ำอีก ประกอบไปด้วย ตาข่ายที่ 1 เป็นหน้าที่ของโรงเรียนปรับการศึกษาให้ยืดหยุ่นขึ้น ด้วยแนวทาง 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ตาข่ายที่ 2 เป็นบทบาทของ ศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 โดยสถาบันทางสังคม และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตาข่ายที่ 3 ศูนย์เรียนรู้ชุมชน หรือตำบล และโรงเรียนมือถือ
“โมเดลตาข่ายการศึกษาจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อผู้เรียนทุกสภาพปัญหา เพราะออกแบบหลักสูตร แผนการเรียนรายคนตามบริบทผู้เรียน บริบทพื้นที่ และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ประเมินผลตามพัฒนาการผู้เรียนเป็นรายบุคคล ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ สร้างการเรียนรู้ควบคู่การทำงาน และยังใช้ระบบ credit bank หรือธนาคารหน่วยกิต เพื่อรองรับการเทียบโอนวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพด้วย”
นายชัชวาลย์ บุตรทอง หรือ ครูติ๊ก ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม เครือข่าย กสศ. กล่าวว่า ศูนย์การเรียนของเราเรียกตัวเองว่าโรงเรียน 4 ตารางวา ออกแบบหลักสูตรที่โอบรับเด็กทุกคนที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาและในกระบวนการยุติธรรม เรามองว่า หากเด็กหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วเป็นเรื่องยากที่จะทำให้กลับเข้าสู่ระบบได้อีกครั้ง เพราะเด็กกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่กลัวห้องเรียน หากบังคับให้กลับมาเรียนแบบเดิม ก็อาจเสี่ยงหลุดซ้ำซ้อนได้ จึงจำเป็นต้องช่วยพวกเขาหาเส้นทางการศึกษาให้กับตัวเองใหม่ โดยไม่มีการตีกรอบว่าต้องกลับมาเรียนเฉพาะในห้องเรียน หรือต้องมาเรียนทุกวัน หากต้องไปทำงานก็แจ้งกับครูได้ และยังสามารถนำความรู้ ประสบการณ์การทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนได้
“โจทย์การทำงานของเรา คือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งชุมชน ครอบครัว มีส่วนช่วยกันสร้างขึ้น ให้กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถช่วยฟื้นฟูให้เด็กยินดีที่จะกลับเข้าสู่ระบบ โดยแต่ละฝ่ายช่วยเขาหาเส้นทางที่ตรงกับโจทย์ชีวิตของแต่ละคน เราช่วยกันทำให้ท้องถิ่นเป็นพลังสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ไว้รองรับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้” ครูติ๊กกล่าว
นายวิทิต เติมผลบุญ หรือ ครูหน่อง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนซีวายเอฟ (CYF Thailand) และเลขาธิการสมาคมศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ผู้ริเริ่มโรงเรียนมือถือร่วม กับ กสศ. กล่าวว่า เด็กนอกระบบอยากกลับมาเรียน เพราะพอเขาออกไปอยู่ในโลกความเป็นจริงแล้ว ได้เรียนรู้ว่าถ้ามีวุฒิการศึกษาชีวิตจะก้าวหน้าไปได้เร็วกว่า แต่บนข้อจำกัดของเด็กที่ออกจากระบบไปนานแล้วการกลับเข้าไปในห้องเรียนมันไม่สอดคล้องกับประสบการณ์ของเขาอีกต่อไป เพราะเกือบทุกคนเขาไปทำงาน มีชีวิตอีกแบบหนึ่งไปแล้ว เราจึงมองหาเครื่องมือที่จะเป็นทางออกให้เด็กเหล่านี้ยังเชื่อมตนเองไว้กับระบบการศึกษาได้ต่อไป ในรูปแบบของโรงเรียนมือถือ หรือโรงเรียนเคลื่อนที่ ที่ต้องเอื้อต่อการเรียนได้ในทุกที่ทุกเวลา แล้วออกแบบหลักสูตรร่วมกัน
“โรงเรียนมือถือให้เด็กเลือกเรียนจากสิ่งที่ชอบ ที่รัก ที่ฝัน เข้ากับตัวชี้วัดในวิชาหลัก เน้นหนักที่การลงมือทำ มองหาหนทางที่จะเติบโตประกอบอาชีพในสายงานนั้น ๆ มันทำให้เขาชัดเจนกับเป้าหมายในการเรียนได้มากขึ้น คือรู้ว่าจะเรียนเรื่องอะไรไปทำไม ดังนั้นเด็กนอกระบบการศึกษาหลายคนจึงให้ความสนใจ เพราะส่วนหนึ่งเขาทำงานแล้ว มองว่าถ้าจะกลับเข้าสู่การศึกษา บทเรียนนั้นต้องช่วยทำให้เขาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ดียิ่งขึ้น”
นายศุภชัย ไตรไทยธีระ ศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ กล่าวว่า ได้ร่วมกับ กสศ. และเคเอฟซี ประเทศไทย พัฒนา ‘หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ’ ของ KFC ซึ่งหลังจากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ และได้รับการอนุมัติหลักสูตรจากเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ได้นำไปทดลองใช้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอาจเคยก้าวพลาด จนต้องได้รับโทษทัณฑ์หรือหลุดออกจากเส้นทางการศึกษาไป หลักสูตรนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้หวนกลับเข้าสู่เส้นทางชีวิตใหม่และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพึ่งพาตนเองได้
นายพิเศษ ถาแหล่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม ผู้คิดค้นห้องเรียนระบบสอง กล่าวว่า ห้องเรียนระบบสองถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้โอกาสเด็ก ๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาได้กลับมาเรียน โดยใช้หลักคิดสำคัญคือเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้เวลาและกิจกรรมนอกห้องเรียนต่าง ๆ ทั้งการทำงานหารายได้ การช่วยเหลือครอบครัวหรือตนเอง มาแปรเปลี่ยนเป็นผลการเรียนร่วมกับระบบการประเมินผลอื่น ๆ เช่น การเรียนออนไลน์ กิจกรรมกลุ่ม การนำเสนอประสบการณ์ การเรียนรู้ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ
ในปี 2568 นี้ กสศ. ร่วมกับท้องถิ่น 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างต้นแบบระบบนิเวศการเรียนรู้ พื้นที่ปลอดภัยเพื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่จะช่วยป้องกันปัญหาการหลุดจากระบบการศึกษาได้จริง
ผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมขบวนการขับเคลื่อน Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน ทั้งในระดับจังหวัด และตำบล ติดต่อได้ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-079-5475 กด 0
ที่มาข้อมูล : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ที่มารูปภาพ : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)