โปแลนด์-บอลติก ถอนตัวอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด ปกป้องตัวเองจากรัสเซีย

เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม) กระทรวงกลาโหมโปแลนด์, เอสโตเนีย, ลัตเวีย และ ลิทัวเนีย ออกแถลงการณ์ร่วมจะถอนตัวออกจาก “อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันตัวเองทุกวิถีทางจากภัยคุกคามของ “รัสเซีย” และพันธมิตรอย่าง “เบลารุส” ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยทั้ง 4 ประเทศมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ซึ่งในแถลงการณ์ระบุด้วยว่าการถอนตัวนี้ก็เพื่อให้ประเทศของพวกเขามีขีดความสามารถสูงสุด มีความยืดหยุ่น และมีเสรีภาพ ในการป้องกันประเทศทั้ง 4 ประเทศ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ปีกตะวันออกให้กับนาโต”


กลุ่มประเทศบอลติกทั้งสี่นี้ลงนามในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ “สนธิสัญญาออตตาวา” (Ottawa Treaty) ตั้งแต่ปี 1997 ที่เรียกร้องให้ทั่วโลกห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ ซึ่งกว่า 160 ประเทศที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้ โดยประเทศในกลุ่มบอลติกลงนามเมื่อปี 2005 ในขณะที่โปแลนด์เข้ามาร่วมในสนธิสัญญานี้เมื่อปี 2012 ยกเว้นแต่ชาติมหาอำนาจทางทหาร อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย ปากีสถาน และ สหรัฐฯ ที่ไม่เคยลงนามในสนธิสัญญานี้


ในแถลงการณ์ร่วมยังระบุด้วยว่า สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคบอลติกกลับ “ลดลง” ตั้งแต่ที่มีการลงนามในสนธิสัญญา จากการพิจารณาร่วมกันจึงเห็นควรที่จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาออตตาวา และการตัดสินใจครั้งนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมใช้มาตรการที่จําเป็นทุกอย่างในการปกป้องดินแดนและเสรีภาพของตัวเอง


โปแลนด์-บอลติก ถอนตัวอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด ปกป้องตัวเองจากรัสเซีย

สรุปข่าว

โปแลนด์และชาติบอลติกประกาศถอนตัวออกจากอนุสัญญาห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล โดยให้เหตุผลว่าต้องการป้องกันตัวเองจากรัสเซียด้วยขีดความสามารถสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ยังเน้นย้ำด้วยว่าแม้จะถอนตัวจากสนธิสัญญา แต่โปแลนด์และประเทศบอลติก ยังมุ่งปฏิบัติตามตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมไปถึงการคุ้มครองพลเรือนในช่วงเกิดความขัดแย้งทางอาวุธด้วย


ทั้งนี้ ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาออตตาวา แต่เพิ่งได้รับทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมาจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบในยูเครน โดยในช่วงที่ผ่านมายูเครนกล่าวกับสหประชาชาติว่าไม่สามารถการันตีที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาได้

ที่มาข้อมูล : BBC

ที่มารูปภาพ : Reuters