
แมลงสาบไซบอร์กที่ติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะ สำหรับภารกิจค้นหาและกู้ภัย สามารถทำงานเป็นทีม และปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าได้ สามารถลงพื้นที่เกิดเหตุได้เร็วขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ของสิงคโปร์ และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า และโอซาก้าญี่ปุ่น
ความสามารถของแมลงสาป นอกจากจะสามารถเข้าไปยังจุดเกิดเหตุที่คับแคบได้ก่อนคนแล้ว หากเพื่อนหุ่นยนต์แมลงสาบของมันพลิกหงายท้องจนเคลื่อนไหวไม่ได้ มันก็สามารถช่วยพลิกตัวเพื่อนของมันได้ด้วย
ชิปเซ็ตขนาดเท่าหัวแม่มือซึ่งติดตั้งกล้องอินฟราเรดและเครื่องมืออื่น ๆ สำหรับการค้นหาและกู้ภัย ถูกติดไว้บนหลังของแมลงสาบยักษ์มาดากัสการ์ แมลงสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดราว 5-7.5 ซม.
สายไฟที่ติดอยู่กับเสาอากาศและด้านหลังจะส่งคลื่นความถี่อ่อนๆ เพื่อสะกิดแมลงสาบให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่กำหนด โดยสร้างความรู้สึกเหมือนว่ากำลังสัมผัสกับสิ่งกีดขวางเทียม การพัฒนาครั้งล่าสุด ช่วยให้เราสามารถควบคุมฝูงแมลงสาบทั้งฝูงได้ เพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาผู้รอดชีวิตในภารกิจกู้ภัยหรือการทำแผนที่ภูมิประเทศ โดยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ต้องควบคุมแมลงสาบแยกทีละตัว แต่ด้วยวิธีนี้ ทำให้เราสามารถควบคุมแมลงสาบทั้งฝูงได้ ด้วยอัลกอริธึมเชื่อมโยงแมลงสาบหลายตัวเข้าด้วยกันผ่านตัวควบคุมวิทยุขนาดเล็กรุ่นใหม่ที่ติดตั้งอยู่บนหลังแมลงสาบ
แมลงสาบตัวที่อยู่ใกล้ผู้รอดชีวิตมากที่สุด อาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นจ่าฝูง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจ่าฝูงจะประสานกับอุปกรณ์ของแมลงสาบตัวอื่นเพื่อกระตุ้นให้แมลงสาบตัวอื่นด้วยการส่งคลื่นเบาๆ ให้เดินไปยังเป้าหมาย

สรุปข่าว
ปัจจุบันทีม NTU สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของแมลงสาบได้ 20 ตัวในคราวเดียว เมื่อมีแมลงมากขึ้น ทีมสามารถเพิ่มความเร็วและขนาดพื้นที่ในตรวจสอบมากขึ้น
การพัฒนาครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งล่าสุดสำหรับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของแมลงสาบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รัดอยู่ที่หลัง
เมื่อเดือนเมษายน 2024 หน่วยงาน Home Team Science and Technology Agency (HTX) และ NTU ได้จัดแสดงการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวระหว่างนิทรรศการการค้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการให้ข้อมูลสำคัญแก่หน่วยงานรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น การระบุตำแหน่งของผู้รอดชีวิตหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
การทดลองใน NTU ดำเนินการโดยใช้อัลกอริทึมควบคุมฝูงแมลงสาบที่พัฒนาโดยศาสตราจารย์มาซากิ โอกุระ จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า และศาสตราจารย์วากามิยะ นาโอกิ จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ความพยายามวิจัยร่วมกันนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Communications ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แมลงสาบมีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศที่ยากลำบากตามธรรมชาติโดยไม่เหนื่อยง่ายอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากหุ่นยนต์ที่ต้องใช้แบตเตอรี่ปริมาณมาก หากสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับภารกิจในลักษณะนี้
อัลกอริทึมสำหรับการเคลื่อนที่เป็นฝูงจะนำลักษณะที่เป็นประโยชน์เหล่านี้มาใช้เป็นกลุ่ม พร้อมใช้ประโยชน์จากสัญชาตญาณตามธรรมชาติของแมลงสาบ และการควบคุมที่แม่นยำ
เมื่อการวิจัยดำเนินไป ทีมพบว่าการปล่อยให้แมลงเคลื่อนที่ไปเองดูมีประสิทธิภาพมากกว่าการผลักมันอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์นาโอกิกล่าวว่า “แทนที่จะพยายามบังคับพวกมันให้เคลื่อนที่อย่างแม่นยำ เราพบว่าการใช้วิธีการที่ผ่อนคลายไม่เพียงแต่ได้ผลดีกว่า แต่ยังนำไปสู่การทำงานร่วมกันมากขึ้นด้วย”