World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: โศกนาฏกรรม “วัลเลย์ พาเหรด” มหาวิบัติไฟผลาญสนาม จนเกิด “การเปลี่ยนแปลง” ฟุตบอลอังกฤษ

World-in-depth by วิศรุต หล่าสกุล: โศกนาฏกรรม “วัลเลย์ พาเหรด” มหาวิบัติไฟผลาญสนาม จนเกิด “การเปลี่ยนแปลง” ฟุตบอลอังกฤษ

สรุปข่าว

โศกนาฏกรรมในโลกฟุตบอลนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง และแต่ละครั้ง นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลทั้งสิ้น 


แต่หนึ่งในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่แฟนฟุตบอล โดยเฉพาะ แฟนฟุตบอลอังกฤษ อาจหลงลืมไป หนีไม่พ้น การเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ “วัลเลย์ พาเหรด (Valley Parade)” สนามของสโมสร “แบรดฟอร์ด ซิตี้ (Bradford City)” ในปี 1985


แน่นอน นอกตัวเลขของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญแล้ว โศกนาฏกรรมนี้ ยังได้ทำการเปลี่ยนแปลง “ฟุตบอลอังกฤษ” ในเรื่องของความปลอดภัยไปตลอดกาลอีกทอกหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ


ร่วมย้อนรอยตื้นลึกหนาบางประเด็นดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจได้ ณ บัดนี้ 


ยาสูบมหาภัย เชื้อไฟบรรลัยกัลป์


หากทำการสืบสาวราวเรื่อง ส่วนใหญ่ตามหน้าสื่อต่างประเทศ ชี้ชัดเป็นฉันทามติว่า ในแมทช์สุดท้ายของการแข่งขันดิวิชัน 3 [ลีกวัน ในปัจจุบัน] ระหว่างแบรดฟอร์ด ซิตี้ ปะทะ ลินคอล์น ซิตี้ ซึ่งเป็นแมทช์ฉลองแชมป์ของแบรดฟอร์ด ซิตี้ ที่จะได้เลื่อนชั้นไปเล่นในดิวิชัน 2 [เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในปัจจุบัน] เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร 


แน่นอน วันนั้นแฟนบอลต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์นี้ จึงทำการเข้าชมอย่างแน่นนขัด อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน


แต่แล้ว ในช่วงพักครึ่ง ผู้บรรยายและแฟนบอลจากอีก 3 ฝั่ง ได้สังเกตุเห็นแสงไฟประหลาดวิบวับขึ้นที่ “เมน สแตนด์” ก่อนที่กล้องทุกตัวของสนามจะจับจ้องไปที่จุดนั้น และไม่นาน ไฟจุดเดียว ก็ขยายใหญ่กลายเป็นทะเลเพลิง ย่างสดผู้ชมที่แน่นขนัดในสนาม บางส่วนที่รอด คือพวกที่อยู่ชั้นล่าง ๆ หนีลงกลางสนามได้ทัน 


ไม่นาน ไฟก็ได้ลุกลามบานปลาย แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงประจำเมืองแบรดฟอร์ดกลับทำงานได้ล่าช้า ควบคุมเพลิงไม่ทันการ จนในที่สุด เมน สแตนด์ก็พังครืนลงมา ไฟเกือบจะลามไปทั่วสนาม เดชะบุญที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำงานพอดี จากเหตุการณ์นี้ มีผู้ได้รับการย่างสดตายคาเก้าอี้ 52 ราย ส่วนอีก 4 รายตายที่โรงพยาบาลเนื่องจากไม่อาจทนพิษแผลไฟไหม้ได้ รวมแล้วเสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บอีก 260 คน


โศกนาฏกรรมนี้ เรียกได้ว่าเป็นความสยดสยองถึงขีดสุด เนื่องจากว่าเป็นแมทช์ฉลองแชมป์ของแบรดฟอร์ด ซิตี้ สื่อทุกสำนักในอังกฤษ ล้วนมาตั้งกล้องถ่ายทอดสด ดังนั้น ภาพที่ออกไปสู่สายตาผู้รับสาร จึงได้เห็นการย่างสด การโอดครวญ ทนทุกข์ทรมาน และแผลไฟไหม้ “แบบสด ๆ” โดยไม่ได้ผ่านการเซ็นเซอร์ใด ๆ 


แน่นอน หลังจากนั้น เหตุการณ์นี้เป็นที่ให้ความสนใจของเจ้าหน้าที่อย่างมาก ในการสอบสวนหาสาเหตุ โดยพยานหลักฐานได้ชี้ว่า ต้นเหตุไฟนรกนี้ มาจาก “ขี้บุหรี่” ของแฟนฟุตบอลท่านหนึ่ง คาดว่าสูบตอนกำลังเมาแอลกอฮอล์ จึงทำให้ร่วงหล่นลงไปสู่ใต้ถุนของสนาม ที่มีแต่ “เศษกระดาษ” ประเภทแผ่นพับ สูจิบัตร หรือโปสเตอร์โปรโมท  


และที่สำคัญ สนามวัลเลย์ พาเหรด แห่งนี้ “สร้างด้วยไม้” ทั้งสิ้น


ด้วยเงื่อนไขสองอย่างนี้ ทำให้เพลิงไหม้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว แม้จะมีพยานบุคคลท่านหนึ่งให้การว่า ตนนั้นได้สังเหตุเห็นเชื้อไฟขนาดย่อม ๆ และได้ทำการเทกาแฟลงไปเพื่อดับสิ่งนั้นเรียบร้อย แต่กรรมก็ได้เกิดขึ้น


และนี่เป็นส่วนหนึ่งของ “Consequence” ในโศกนาฏกรรมนี้เท่านั้น


ไหม้เดียวเสียวยกลีก


ผลกระทบประการแรก นั่นคือ ผลกระทบต่อวงการ “สื่อมวลชน” 


ในงานศึกษา The media, affect, and community in a decade of disasters: reporting the 1985 Bradford City stadium fire ได้เสนอว่า เนื่องจากสื่ออังกฤษได้เก็บภาพทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่ต้นจนจบของวัลเลย์ พาเหรด ซึ่งสร้างความสยดสยอง รวมถึงความสะเทือนใจแก่ผู้ที่เป็นญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างมาก


อย่าลืมว่า ในสมัยนั้น การสื่อสารยังไม่สะดวกสะบายแบบทุกวันนี้ การรับรู้เรื่องโศกนาฏกกรมจึงมาจากภาพข่าวหรือสกู๊ปที่ได้รับการเซ็นเซอร์มาก่อนหน้า แต่กลับเหตุการณ์นี้ คือการถ่ายทอดสดให้เห็นแบบจะ ๆ จัง ๆ ย่อมต้องสร้างความสะท้านทรวงแก่ผู้ชมเป็นแน่ 


ถึงขนาดที่ผู้ชมกล่าวขวัญว่าเป็น “โศกนาฏกรรมออนแอร์” เลยทีเดียว


เรื่องนี้ ขนาดทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงจริยธรรมสื่อของอังกฤษ และเกิดเป็น Norms แบบกว้าง ๆ มาว่า ในระหว่างการถ่ายทอดสด สื่อจะต้องมี Empathy ต่อเหตุการณ์ สมควรยิ่งที่จะตัดสัญญาณการถ่ายทอดสดนั้น ๆ ไม่ให้ฉายภาพที่สยดสยองจนเกินควร


แต่อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นั่นคือ การเกิด “ข้อไต่สวนโพพเพอร์เวลล์ (The Popplewell Inquiry)” ซึ่งท้ายที่สุด ได้รับการตราเป็นพระราชบัญญัติเพิ่มเติมใน Safety of Sports Grounds Act 1975 มาว่า 


นับตั้งแต่นี้ต่อไป ห้ามไม่ให้สนามฟุตบอลของสโมสรในอังกฤษสร้างด้วยวัสดุประเภทไม้ หรือวัสดุทดแทนที่ติดไฟง่ายโดยเด็ดขาด ทั้งยังมีการจำกัดการเข้าชมในสนามเพิ่มเติมอีกด้วย


แน่นอน อังกฤษเป็นประเทศที่มีระบบกฎหมาย Common Law แม้จะไม่ได้ตราเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่าง The Football Association หรือ FA และ The English Football League หรือ EFL ต่างต้องน้อมรับโดยดุษฎี


เมื่อมาถึงตรงนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่า บางครั้งบางที เหตุการณ์เล็ก ๆ ก็นำไปสู่อะไรที่ใหญ่โตได้ และเหตุการณ์ที่ใหญ่โตมากพอ ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ


กระนั้น หากสิ่งดังกล่าวไม่ใช่โศกนาฏกรรม ย่อมเป็นการดีที่สุด


แหล่งอ้างอิง




ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ