จัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยสู่เวทีโลก

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ผลักดัน “ผ้าขาวม้าวิถีชีวิตไทย” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสู่เวที UNESCO 

โดยการเร่งจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยจากทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ เพื่อประโยชน์ด้านการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชาติ และส่งเสริมการสร้างสรรค์ลายอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าขององค์กรและชุมชน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลไปสู่การต่อยอดในภาควิสาหกิจชุมชนและภาคการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในแก่ผ้าขาวม้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า การที่เข้ามาช่วยกระทรวงวัฒนธรรมทำเรื่องนี้ก็เพื่อดำรงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้อยู่ในเวทีโลกได้ ซึ่งเป็นการปกป้องทางวัฒนธรรมและสร้างความมั่นใจว่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะไม่สูญหาย


สรุปข่าว

สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ เร่งจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทย ขับเคลื่อนมรดกภูมิปัญญาไทยสู่เวที UNESCO

และนอกจากการปกป้องทางวัฒนธรรมแล้วยังมีเป้าหมายของการจัดทำฐานข้อมูล 3 ประการ กล่าวคือ

1. ส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าของผ้าขาวม้าไทยในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

2. สืบสานและพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมสร้างสรรค์

3. สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม


ปัจจุบัน สถาบันไทยศึกษาได้จัดเก็บฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยในรูปแบบดิจิทัลบนเว็บไซต์ มีการทำเป็น template หัวข้อต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องลวดลายเป็นตัวตั้ง และมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ลายผ้า ความเป็นมา (เรื่องเล่า) ของลายผ้า ผู้ออกแบบ สีและแพทเทิร์นของผ้า เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์ระบุว่า เมื่อฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าเสร็จ ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องการศึกษาลายผ้าขาวม้าไทย การพัฒนาชุมชน และการตลาด

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : TNN

avatar

ณัฐพัชญ์ ทีฆโชติคุณานนท์

แท็กบทความ

เศรษฐกิจ Insight
สถาบันไทยศึกษา
เวที UNESCO
ผ้าขาวม้าไทย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย