
ดร ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย วิจัยเศรษฐกิจมหภาค, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่าล่าสุดได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรกาภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยสูงถึงร้อยละ 36 พบว่าจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.5 ถึงลดลงร้อยละ 1.0 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.4 ถึง ร้อยละ 1.5 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.4
จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางขาลง และแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแย่กว่าที่มองไว้ทั้งภาคท่องเที่่ยว และส่งออกที่อาจหดตัวในปีนี้ SCB EIC จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. มีโอกาสจะปร้ับอัตราดอกเบี้ยลดลงได้อีก 3 ครั้งในปีนี้จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เป็นร้อยละ 1.25 ณ สิ้นปี 2568

สรุปข่าว
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า BBL ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยปี 2568 เหลือร้อยละ 2.5 โดยมองว่ามีความเส่ี่ยงอาจจะเติบโตได้ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 จากต้นปีคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3
เนื่องจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่จะเก็บภาษีนำเข้าจากไทยร้อยละ 36 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 5 ช่องทางสำคัญคือ ด้านการค้า การท่องเที่ยว เงินลงทุน ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมา และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง ซึ่งปัญหาต่างๆเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น
ดังนั้นทางรอดสำหรับประเทศไทย รัฐบาลต้องเตรียมการ 5 ด้านในเรื่องนี้
1. เริ่มจากการเจรจา และ 2.ระหว่างนั้นรัฐบาลต้องรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจ รักษาการท่องเที่ยวจะกระตุ้นอย่างไรทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการส่งออก จะปรับเปลี่ยนเป้าหมายไปประเทศอื่นได้อย่างไรหรือไม่
และ 3.ต้องเตรียมรับมือสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในประเทศ 4.ต้องลดความพึ่งพิงในสหรัฐ โดยหันส่งออกไปประเทศอื่น เช่น ในอาเซียน แอฟริกา และตั้งเป้าลดสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐ จากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 10 เพื่อลดผลกระทบในระยะต่อไป สุดท้าย 5.ต้องมีจุดยืนตนเองสำหรับการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจุดยืนที่เหมาะสมสำหรับไทยคือ ต้องไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ณัฐพัชญ์ ทีฆโชติคุณานนท์