แม้ "โดนัลด์ ทรัมป์" จะมั่นใจว่านโยบายภาษีของเขา จะทำให้ “ยุคทอง” ของชาวอเมริกันกลับมา แต่การที่จะได้มาซึ่งความหวังดังกล่าว อาจจะต้องแลกกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"คาร์ล ไวน์เบิร์ก" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก High Frequency Economics เปิดเผยว่า นโยบายเรียกเก็บภาษีศุลกากรของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐสูงถึงราวร้อย 10 ในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งผลกระทบที่ระดับดังกล่าว จะเพิ่มโอกาสทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย จากการที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ทั้งนี้ หากอ้างอิงข้อมูลที่เปิดเผยล่าสุด โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา พบว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับการหดตัวถึงร้อยละ 3.7 ในไตรมาสแรกของปีนี้
สรุปข่าว
"ไวน์เบิร์ก" คาดการณ์ว่า มาตรการภาษีของทรัมป์จะส่งผลให้รายได้ของภาคครัวเรือนและกำไรของภาคธุรกิจ หายไปราว 741,000 ล้านดอลลาร์ และตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นอีก หากรวมถึงผลกระทบจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาและเม็กซิโก นอกจากนี้ เขายังคาดการณ์ด้วยว่าเศรษฐกิจสหรัฐ จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม จากราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นด้วย
และผลจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ยังทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนน,กรกฎาคมและตุลาคม หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariff) ต่อประเทศคู่ค้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา
“ราคาน้ำมันดิบ” ร่วงหนัก “โอเปกพลัส” เพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าคาด
เมื่อคืนที่ผ่านมา (3 เม.ย.) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดิ่งลงอย่างหนัก หลัง "8 ชาติ" สมาชิกโอเปกพลัส ตกลงที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบรวมกัน 411,000 บาร์เรลต่อวันเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการเร่งแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตให้เร็วขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
การประชุมของ "8 ชาติ" สมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ซึ่งประกอบด้วย "ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต คาซัคสถาน แอลจีเรีย และโอมาน" เพื่อทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันเมื่อคืนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติที่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมกัน 411,000 บาร์เรล/วัน สำหรับการผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
แต่อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ของ "โอเปกพลัส" ระบุว่า การปรับเพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าว อาจถูกระงับ หรือโอเปกพลัส อาจกลับมาลดกำลังการผลิตลงได้เช่นกัน โดยจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตลาดเป็นหลัก
ทั้งนี้ ตัวเลขกำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมกันที่ 411,000 บาร์เรล/วันดังกล่าว ถือว่าสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดก่อนหน้านี้ เนื่องจากโอเปกพลัส เพิ่งจะมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจำนวน 135,000 บาร์เรล/วันสำหรับเดือนเมษายน ตลาดจึงคาดการณ์ว่าโอเปกพลัส จะมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตจำนวนดังกล่าวในเดือนพฤษภาคมด้วย
ขณะที่การตัดสินใจครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความปั่นป่วนของตลาดโลก ซึ่งได้รับแรงกดดันจาก การเรียกเก็บภาษีการค้าครั้งใหญ่ต่อประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ขณะที่ในเดือนเมษายนนี้ กลุ่ม "โอเปกพลัส" จะเริ่มทยอยยกเลิกมาตรการลดกำลังการผลิต 2,200,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ ที่ดำเนินการแยกจากแผนการผลิตของกลุ่ม "โอเปกพลัส" ที่ยังคงมีมาตรการลดกำลังการผลิต 3,660,000 บาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี 2026

อาทิตย์ คุสิตา