
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ชุดยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ เป็นการปรับปรุงในหลาย ๆ มิติ ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ตเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส ด้านการกำกับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตของบริษัทจดทะเบียน การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญ ครบถ้วนและเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ด้านมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเพิ่มอำนาจในการทำคดีของ ก.ล.ต.

สรุปข่าว
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการดำเนินการในหลายด้านเพื่อยกระดับในการกำกับดูแล ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการกำกับดูแล โดยการออกเป็น พ.ร.ก. ตามที่ ครม. เห็นชอบจะช่วยให้การดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อตลาดทุนได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งการเสริมสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
"ส่วนกรณีการเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มี high impact ก.ล.ต. มีอำนาจในการทำคดีและเมื่อสรุปสำนวน เสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องซึ่งเป็นไปตามหลักการ check and balance ตามกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการดังกล่าว ก.ล.ต. สามารถบูรณาการพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการร่วมสอบสวนคดีโดยใช้ความเชี่ยวชาญมาช่วยให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายในกรณี high impact รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางพรอนงค์ กล่าว
ด้าน นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลดีต่อตลาดทุนโดยรวม เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการกำกับดูแลการซื้อขาย และการตรวจสอบการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังจะช่วยให้การดำเนินการทางคดีและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดในตลาดทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้รวดเร็วมากขึ้น อันจะช่วยป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว โดยมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดเพิ่มเติมในร่างกฎหมายดังกล่าว สามารถจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น (Trust & Confidence) ให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของตลาดทุนไทยในขณะนี้
ที่มาข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ที่มารูปภาพ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

พรสวรรค์ นันทะ