หุ้นสามัญที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้นสามารถที่จะเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ได้ ด้วยเหตุผล และสาเหตุต่าง ๆ ตามที่ข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ แล้วนักลงทุนต้องทำอย่างไร เมื่อหุ้นที่เราถืออยู่นั้น “ถูกเพิกถอน”
สรุปข่าว
บริษัทจดทะเบียนอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ได้หากตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ หยุดประกอบกิจการ ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้ถือหุ้น เป็นต้น
ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนก็สามารถที่จะขอเพิกถอนหุ้นสามัญจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลมติคณะกรรมการ การขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น การทำคำเสนอซื้อหุ้น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย
โดยบริษัทจดทะเบียนนั้นจะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการเพิกถอนจากผู้ถือหุ้น ราคาที่ทำคำเสนอซื้อ และความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระถึงความเหมาะสมในการเพิกถอน จะต้องได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 และไม่มีผู้คัดค้านเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท ซึ่งผู้ถือหุ้นก็ควรศึกษาความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ก่อนที่จะลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ
หากได้รับมติการเพิกถอนดังกล่าวแล้วบริษัทจดทะเบียนจะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด คือมีระยะเวลารับซื้อหลักทรัพย์สูงสุด 45 วันทำการ และหลังจากที่มีการรายงานผลการซื้อหุ้นคืนแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ก็จะประกาศการเพิกถอนของบริษัทจดทะเบียน
ซึ่งนักลงทุนที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการเพิกถอน สามารถที่จะขายหุ้นนั้นออกไปตามกำหนดระยะเวลา และราคารับซื้อหลักทรัพย์ที่กำหนดไว้ หรือจะเลือกถือหลักทรัพย์นั้นต่อไปก็ได้ โดยจะได้รับสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกประการ โดยสามารถซื้อขาย หรือเปลี่ยนมือกันเองได้ แต่จะไม่สามารถนำหุ้นนั้นมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในภายหลังได้
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย/สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ที่มารูปภาพ : Canva