จีนงัดสินค้าเกษตรเป็นอาวุธโต้สงครามภาษี

“บลูมเบิร์ก” รายงานว่า มาตรการภาษีที่จีนเรียกเก็บจากสินค้าเกษตรนำเข้าของสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันนี้ (10 มี.ค.) สะท้อนการใช้สินค้าเกษตรเป็นอาวุธตอบโต้สงครามภาษีที่สหรัฐฯ เปิดฉาก ขณะเดียวกันจีนก็ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในภาคเกษตรกรรม และลดผลกระทบจากความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวลง


โดยจีนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 15 สำหรับไก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้าย และยังเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 สำหรับถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง เนื้อหมู เนื้อวัว สินค้าประมง ผักและผลไม้ รวมถึงนม


นอกจากนี้ จีนก็เพิ่งประกาศเก็บภาษีสินค้าเกษตรจากแคนาดาครอบคลุมน้ำมันเรปซีด (rapeseed) และกากน้ำมัน (oil cake) ในอัตราร้อยละ 100 รวมถึงเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ประมงและหมูในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มีนาคมนี้ 

สรุปข่าว

ทางการจีนใช้สินค้าเกษตรเป็นอาวุธตอบโต้สงครามภาษี ทั้งกรณีสหรัฐฯ และแคนาดา ขณะเดียวกันก็เป็นการแก้ปัญหาปริมาณการผลิตล้นตลาดเนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัว

จีนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด เนื่องจากการบริโภคที่ลดลง ทำให้การจัดการกับปัญหาการผลิตส่วนเกินในประเทศมีความเร่งด่วนมากขึ้น อย่างกรณีของข้าวสาลีที่ราคาแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี และการนำเข้าข้าวโพดก็ลดลงมาก


รัฐบาลจีนพยายามปกป้องเกษตรกร รวมถึงขอให้ผู้ค้าจำกัดการซื้อธัญพืชจากต่างประเทศ การเพิ่มเป้าหมายการผลิตในประเทศและสำรองธัญพืชเพิ่มขึ้น


ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ ไปยังจีน มีมูลค่าเกือบ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2567 และเป็นเป้าหมายของความพยายามจากทางการจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนการพึ่งพาการนำเข้าจากสหรัฐฯ ไปเป็นซัพพลายเออร์รายอื่นที่เป็นปรปักษ์น้อยกว่า อาทิ บราซิล


ที่มาข้อมูล : Bloomberg

ที่มารูปภาพ : TNN