ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเปราะบางของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ และในปี 2568 ยังมีโจทย์ท้าทาย 5 เรื่องที่ธุรกิจแบงก์ต้องเตรียมรับมือท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วย
1) รายได้จากธุรกิจหลักจะยังมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมฯ กำไรจาก FVTPL (การวัดมูลค่าผ่านมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน) และเงินลงทุน อาจมีความท้าทายกว่าปี 2567 เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาวะความผันผวนของตลาดการเงินภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์
2) การดูแลจัดการประสิทธิภาพของค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ซึ่งทำให้คาดว่าสัดส่วนต้นทุนต่อค่าใช้จ่าย (Cost to Income Ratio) ในปี 2568 จะลดลงต่ำกว่าระดับร้อยละ 45 ในปี 2567 อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน่าจะยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆ
3) การติดตามดูแลให้ระดับค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ สอดคล้องกับสภาวะความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งคาดว่า สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPLs (Coverage ratio) ในปี 2568 จะลดลงจาก 182% ณ สิ้นปี 2567 ไม่มาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ยังน่าจะมีแนวทางการกันสำรองฯ แบบระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและผลจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะมีผลทั้งในเชิงบวกและลบกับภาคธุรกิจซึ่งทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
4) การจัดการปัญหาคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุกต่อเนื่อง ในปี 2568 เพื่อรักษาระดับ NPLs ให้ใกล้เคียงหรือขยับขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับร้อยล 3.04 ณ สิ้นปี 2567
และ 5) ติดตามเกณฑ์ของทางการที่อาจออกมาเพิ่มเติมและเตรียมกลยุทธ์รับมือกับสภาพการแข่งขันที่อาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจาก Virtual Bank
สรุปข่าว