บาทพลิกแข็งค่า จับตาผลประชุมเฟดสัปดาห์นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า เงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าผ่านแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ลงไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.61 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทพลิกแข็งค่าเร็ว มาจากการที่ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าทันที ที่เข้ารับตำแหน่ง บวกกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย 


นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาท ยังสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ไปอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ของสหรัฐฯ มีความเห็นในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง


ขณะที่แนวโน้มของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ (วันที่ 27 - 31 ม.ค. 2568) มีการคาดการณ์จากธนาคารกสิกรไทยว่าเงินบาท มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไว้ที่ระดับ 33.30 - 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมของ FOME ในระหว่างวันที่ 28 - 29 ม.ค. และต่อด้วยการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 30 ม.ค. รวมถึงติดตามสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" และสถานการณ์เงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวนของจีนด้วย


ด้านคุณกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของ "โดนัลด์ ทรัมป์" เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว นำสู่จุดเริ่มต้นของ 100 วันแรก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ตลาดการเงิน จะจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทิศทางนโยบายต่าง ๆ ที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้ อย่างไรก็ตาม โดยรวมประเมินว่าความไม่แน่นอนเหล่านี้ จะสนับสนุนดอลลาร์สหรัฐยังอยู่ในขาของการแข็งค่า แต่ผลจำกัดจะมากขึ้น เนื่องจากตลาดได้รับรู้นโยบายต่าง ๆ ไปมากพอสมควรแล้ว รวมถึงอาจทำให้การดำเนินนโยบายของเฟดมีความไม่แน่นอนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ผลลบต่อค่าเงินสกุลเอเชีย รวมถึงค่าเงินบาทที่จะได้รับแรงกดดันค่อนข้างมีจำกัด


อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยย้ำถึงประเด็นที่ต้องจับตา ประกอบด้วย 4 ประเด็นด้วยกัน ตั้งแต่การปรับขึ้นภาษีนำเข้า // นโยบายที่ทรัมป์สามารถทำได้ทันทีผ่าน Executive Orders // นโยบายการลดภาษีรายได้ และนโยบายการคลัง รวมถึงเพดานหนี้สาธารณะ 

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ : -