สรุปข่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสินเชื่อบ้านในระบบสถาบันการเงินไทยยังชะลอตัวสอดคล้องกับภาวะอ่อนแอของตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวม โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ของระบบสถาบันการเงินไทย นำโดยสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2545 ชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 3.9 YoY ในไตรมาสแรกของปี 2567 และย้ำการชะลอตัวต่อเนื่องตลอด 6 ไตรมาสที่ผ่านมา หลังมาตรการผ่อนปรนในช่วงโควิด-19 ทยอยสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ หากมองเฉพาะในระบบแบงก์พบว่าสินเชื่อบ้านระบบแบงก์เติบโตเพียงร้อยละ 0.8 YoY ในไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งทำให้ภาพรวมในปี 2567 อาจเติบโตไม่เกินร้อยละ 1.2 นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 23 ปี เนื่องจากปัญหาด้านรายได้และภาระหนี้สินสูงซึ่งกระทบความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ของครัวเรือน โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างเช่นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากหนี้ก้อนเล็กๆ และหนี้รถ จนทำให้โอกาสการก่อหนี้บ้านลดลง
นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึงมีผลกระทบต่อรายได้ภาคครัวเรือน และอาจทำให้สัดส่วน NPLs สินเชื่อบ้านในระบบแบงก์ปี 2567 ขยับสูงขึ้นกว่าระดับร้อยละ 3.90 ต่อสินเชื่อรวม จากระดับร้อยละ 3.71 ในไตรมาส 2 ปี 2567
นอกจากปัญหาคุณภาพหนี้แล้ว ในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาจเห็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เน้นกลุ่มรายได้กลาง-บนและตลาดรีไฟแนนซ์มากขึ้น และยังต้องติดตามมาตรการดูแลการก่อหนี้และแก้หนี้ยั่งยืนของทางการเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อแนวโน้มสินเชื่อบ้านในระยะข้างหน้า
ที่มา TNN
ที่มาข้อมูล : -