

สรุปข่าว
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกฤษฏีกา ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในหมวดที่ว่าด้วยอัตราดอกเบี้ย ที่เสนอให้ปรับแก้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้ปรับลด "ดอกเบี้ย" ผิดนัดชำระ ทั้งดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน มาตรา 7 เหลือ 3% ต่อปี และดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มาตรา 224 เหลือ 5% ต่อปี
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ที่เกี่ยวข้องมี 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 7 ดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อน และมาตรา 224 ดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 7.5% ต่อปี และมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2468 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากความล้าสมัยของอัตราดอกเบี้ยนี้ ถือเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่เพราะมีมานาน 95 ปี หรือเกือบ 100 ปี เลยทีเดียว โดยได้ให้ปรับอัตราดอกเบี้ยดังนี้
1.ดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน มาตรา 7 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เดิมคิด 7.5% ต่อปี อัตราคงที่ตลอด ปรับใหม่เป็น 3% ต่อปี และให้กระทรวงการคลังประเมินทุก 3 ปี หากจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาจต้องออกพระราชกฤษฎีกาต่อไป
2.ดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด มาตรา 224 ตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัจจุบันคิดที่ 7.5% ต่อปี ปรับใหม่เหลือ 5% ต่อปี มาจากดอกเบี้ย 3% จากมาตรา 7 และเพิ่มอีก 2%
3.ในส่วนของการคิดดอกเบี้ยผิดนัดเวลาผ่อนส่งเป็นงวด เดิมคิดจากเงินต้นที่ค้างทั้งหมด ของใหม่คิดจากเฉพาะเงินต้นที่ผิดนัดเท่านั้น ซึ่งจะตกลงแตกต่างจากนี้ไม่ได้
ทั้งนี้กระบวนการที่ผ่าน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อสภาฯเปิดประชุมสมัยสามัญแล้ว จะมีการประสานงานเพื่อให้สภาฯรับร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ พิจารณา และคาดว่าน่าจะมีการประกาศและบังคับใช้ภายในปี 2564
ทั้งนี้หากมีการปรับกฎหมายดังกล่าวแล้ว ประโยชน์ที่ตามมาก็คือ
- อัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
- ป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ประวิงเวลาฟ้องคดีเพื่อเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายที่สูงเกินควร
- ป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยในหนี้ที่ยังไม่เกิดการผิดนัด
การที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้จากเดิมร้อยละ 7.5 เหลือ ร้อยละ 5 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เสนอ และจะนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในลำดับต่อไปนั้น สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ที่ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักคิดและแนวปฏิบัติครั้งใหญ่ของระบบการเงินไทยใน 3 เรื่อง ได้แก่
- การคำนวณกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดเฉพาะงวดที่ผิดนัดจริง ไม่ให้รวมงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
- การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ให้บวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาได้ไม่เกิน 3%
- การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีโอกาสตัดเงินต้นได้มากขึ้น
ส่วนประเด็นวินัยทางการเงิน ซึ่งเดิมมีแนวคิดว่าหากกำหนดอัตราเบี้ยปรับไว้สูงประชาชนจะไม่ผิดชำระหนี้ แต่ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนไป พิจารณาแล้วเห็นว่าการคิดค่าปรับในอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะเป็นอุปสรรคต่อการชำระหนี้ของประชาชน จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ เพื่อลดภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสชำระหนี้ได้มากขึ้นและมีโอกาสผิดนัดน้อยลง เป็นการปรับข้อกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากขึ้นด้วย
ที่มาข้อมูล : -