สมาคมอาคารชุดไทย ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า การก่อสร้างอาคารสูงทุกอาคารในประเทศไทย ที่ก่อสร้าง หลังปี 2550 จะต้องก่อสร้างตามมาตรฐานการก่อสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ทำให้อาคารสูงทั้งคอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน ไม่พังลงเป็นอันตรายแก่ชีวิตคนในอาคาร มีก็แต่ความเสียหายในวงจำกัด เช่น กระเบื้อง/หินอ่อนหลุดร่อนออก หรือผนังแตกร้าวมาจากแผ่นดินไหว, ฝ้าบางจุดหลุดหล่น หรือความเสียหายกับโครงสร้างอาคารบางส่วน แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรงวิบัติ จนพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดนี้ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
แสดงถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงของไทยจากบททดสอบแผ่นดินไหวสูงถึงระดับ 8.2 แมกนิจูด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่มีมาในประเทศไทย ว่าการก่อสร้างตึกสูงของไทยได้มาตรฐานจริง ๆ โดยไม่มีตึกใดเลยที่เปิดใช้อาคารแล้ว พังลงมาจนกระทบต่อชีวิตผู้ใช้อาคารแม้แต่ตึกเดียว
สรุปข่าว
และหลังจากนี้ แต่ละอาคารคงต้องเข้าตรวจสอบความเสียหายของอาคาร ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวทุกแห่ง เพื่อเข้า ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดและเสียหาย ให้เกิดความปลอดภัยรวมถึงสร้างความมั่นใจของผู้ใช้อาคารต่อไป
ด้านคุณ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาคารสูง รวมถึงคอนโดมิเนียม ไฮไรส์ หลังปี 2550 เป็นต้นมามีจำนวนเกือบ 6,000 อาคาร ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด 100% เทียบมาตรฐานอยู่ในระดับต้น ๆ ของโลกได้
ส่วนเรื่องผลกระทบต่อตลาดคอนโดมิเนียม จะมีมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เกิดแพนิคความไม่เชื่อมั่นต่อการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมสูง ไฮไรส์ และมีกระแสข่าวการแห่ขายทิ้งคอนโด ซึ่งกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ด้วย เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณประเสริฐ บอกว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกนี้ก่อน ส่วนในเรื่องความเชื่อมั่นอาจต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคอนโดมิเนียม จะยังเป็นคำตอบสำหรับผู้ที่ต้องการพักอาศัยในเมือง
ส่วนภาพรวมของตลาด ขณะนี้มีปัจจัยบวกจากมาตรการผ่อนคลาย LTV ของแบงก์ชาติ ที่จะเริ่ม 1 พฤษภาคมนี้ เป็นระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน จะเป็นสัญญาณบวกที่สามารถกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในตลาดอสังหาฯให้ดีขึ้น และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน จากกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ ด้วย
ที่มาข้อมูล : สมาคมอาคารชุดไทย
ที่มารูปภาพ : -

พัสวี ฐิติพรวัฒนกุล