
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.91 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.79 บาท/ดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 33.76-33.95 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ดังกล่าว ยังทำให้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม ตามการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) โดยความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะตลาดการเงินผันผวน ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะ Buy on Dip ทองคำอยู่ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สรุปข่าว
ไฮไลท์สำคัญ
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) โดยรายงานข้อมูลดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้
ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 42% ที่จะลดดอกเบี้ยราว 4 ครั้ง ในปีนี้ และอีก 1 ครั้ง ในปีหน้า ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากกว่าคาดจากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการปรับลดการจ้างงานในภาครัฐโดย DOGE
แนวโน้มของค่าเงินบาท
ประเมินว่า ในช่วงระหว่างวัน เงินบาท (USDTHB) อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ที่อาจยิ่งกดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเพิ่มเติม ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายหุ้นไทยต่อได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้ แต่จะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้พอสมควร และเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามในการประเมินแนวโน้มค่าเงินบาท
ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า แต่การอ่อนค่าก็อาจค่อยเป็นค่อยไปได้ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างฝั่งผู้ส่งออก อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านอย่างโซน 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เรามองว่า เงินบาทอาจกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following มิเช่นนั้นแล้ว เงินบาทก็อาจยังคงแกว่งตัวในลักษณะ Sideways ไปก่อนได้
ที่มาข้อมูล : TNN
ที่มารูปภาพ : Getty Images