
ตลาดหุ้นเปิดตลาดแดง ประเทศต่างๆ เตรียมประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ทรัมป์ เสียงเตือนข้าวของจะแพงขึ้น
หลังทรัมป์ประกาศนโยบายกำแพงภาษี ขึ้นภาษีศุลกากรกับหลายประเทศ/ดินแดนทั่วโลก จนเศรษฐกิจปั่นป่วน และเข้าสู่สภาวะสงครามการค้าที่ทั่วโลกกังวล แต่ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความกังวลว่า ทั่วโลกจะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่กระทบเป็นวงกว้าง และสาหัสด้วย
แล้วภาวะเศรษฐกิจถดถอยคืออะไร โลกกำลังจะเข้าสู่จุดนั้นจริงไหม ?
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยคืออะไร ?
the National Bureau of Economic Research หรือ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ได้ให้นิยามของภาวะนี้ไว้ว่า คือ ภาวะการลดลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ กินเวลายาวนานหลายเดือน และดูตัวชี้วัดหลายตัวร่วมด้วย ได้แก่
(1) รายได้ของบุคคลหักด้วยรายจ่าย
(2) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (nonfarm payrolls)
(3) ตัวเลขการจ้างงานของครัวเรือน
(4) รายจ่ายเพื่อการบริโภค
(5) ยอดขายสินค้า
(6) การผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งสำนักงานวิจัยยังกำหนดรอบธุรกิจโดยใช้เกณฑ์สามประการในการกำหนดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ความลึก การแพร่กระจาย และระยะเวลา
ขณะที่ พจนานุกรม Merriam-Webster ระบุว่าภาวะดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะคือมีการว่างงานแพร่หลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจยังมองว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นรุนแรงและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยสหรัฐฯ ถือว่าประสบภาวะดังกล่าวครั้งสุดท้ายในช่วงทศวรรษปี 1930
ทั้งหากดูเศรษฐกิจรายประเทศ ยังมีส่วนที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) ซึ่งก็คือ ภาวะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนวัฏจักรเศรษฐกิจโดยรวม
แต่ถึงอย่างนั้น “เราต้องระมัดระวังกับคำจำกัดความนั้น” เกร็กกอรี่ ดาโก (Gregory Daco) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ EY Parthenon ก็ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า “การหดตัวของ GDP อาจเกิดจากหลายอย่าง รวมถึงอย่างที่อาจเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของสหรัฐฯ (ของปีนี้) จากสภาพแวดล้อมที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น” ด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังชี้ว่า รูปแบบของภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น มีด้วยกัน 4 แบบคือ
(1) ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (V-shaped)
(2) ภาวะถดถอยช่วงสั้น ๆ แล้วฟื้นตัว (U-shaped)
(3) ภาวะถดถอยแล้วฟื้นตัว แต่กลับไปถดถอยใหม่ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้ง (W-shaped หรือ Double-dip recessions)
(4) ภาวะถดถอยแล้วใช้เวลานานในการฟื้นตัว (L-shaped)

สรุปข่าว
แล้วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ?
ตลาดหุ้นเปิดที่แดงเดือด ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ราคาทองแดง และน้ำมันถือเป็นมาตรวัดสุขภาพเศรษฐกิจโลกก็ร่วงลงมากว่า 15% นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีศุลกากร รวมถึงท่าทีประเทศต่างๆ ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลก จนเกิดคำถามว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ?
หากย้อนกลับไปดูช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงทศวรรษที่ 1930 นั้นมีปัจจัยคือ เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจโลกตำต่ำพร้อมกัน ซึ่งมีการมองว่า ขณะนี้อาจจะยังไม่ถือว่ารุนแรงในระดับนั้น แต่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็มองว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทั้งจากการสัมภาษณ์ล่าสุดของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนท์ (Scott Bessent) ได้ลดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง โดยกล่าวว่า จะรักษาแนวโน้มการจ้างงานในสหรัฐฯ และกล่าวว่าเขา "ไม่เห็นเหตุผลที่เราต้องประเมินค่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย" และ “สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่คือการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อความเจริญรุ่งเรือง"
แต่จะสรุปว่า โลกจะไม่เข้าสู่ภาวะนั้นเลยก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ เพราะก็มีฝ่ายที่แสดงความกังวลเช่นกันว่า นโยบายของทรัมป์ ‘อาจจะมีส่วนให้เศรษฐกิจโลกถดถอย’
โดยคำเตือนล่าสุดนั้น มาจากเจมี ไดมอน (Jamie Dimon) CEO ของ JPMorgan ได้ออกมาเตือนในจดหมายประจำปี ถึงผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์ โดยระบุว่านโยบายดังกล่าวอาจส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอย และทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในโลกอ่อนแอลง
ในจดหมายระบุว่า “ภาษีศุลกากรล่าสุดอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และทำให้หลายคนมองว่ามีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้น” และ “รายการภาษีศุลกากรจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่จะทำให้การเติบโตชะลอตัวลง”
เขายังกล่าวถึงนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์ว่า นโยบายนั้นไม่เป็นไร ตราบใดที่อเมริกาไม่กลายเป็นประเทศเดียวที่โดดเดี่ยว “หากพันธมิตรทางการทหารและเศรษฐกิจของโลกตะวันตกแตกสลาย อเมริกาเองก็คงอ่อนแอลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” เขากล่าว ซึ่งเขายังชี้ว่า ทั้งความมั่นคง และเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันอย่างสำคัญ ในอดีต “สงครามเศรษฐกิจก่อให้เกิดสงครามทางการทหารในอดีต”
ซึ่งเขายังได้เตือนถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งเขากล่าวว่าอาจส่งคลื่นกระแทกอันรุนแรงไปทั่วทั้งเศรษฐกิจโลกด้วย และเขายังยอมรับถึง “แนวทางการค้าที่เป็นอันตราย” โดยเฉพาะจากจีน ส่งผลกระทบต่อคนงานด้วย
ไดมอนถือเป็นผู้นำธุรกิจคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพลที่สุดในโลก และก่อนหน้านี้ท่าทีของเขากับนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์นั้นมองว่า ยังไม่น่าวิตกนัก แต่ครั้งนี้ สำนักข่าวหลายแห่งกลับวิเคราะห์ว่าเขามีท่าทีที่แตกต่างออกไป และมีน้ำเสียงในเชิงระมัดระวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตมากยิ่งขึ้น
เห็นได้ชัดจากข้อความหนึ่งที่เขาระบุว่า “เราเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่อันตรายและซับซ้อนที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง” เขากล่าว
ที่มาข้อมูล : CNN, ธนาคารแห่งประเทศไทย, NPR, BBC
ที่มารูปภาพ : AFP, Freepik

กรุณพร เชษฐพยัคฆ์