ไขสาเหตุ ถนนพระราม 2 ไม่ควรสร้างทางยกระดับ พื้นดินอ่อน-ชุ่มน้ำ คือตัวปัญหาจริงหรือ?

ปัญหาการก่อสร้างเส้นทางถนนพระราม 2 ยังเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับผู้ใช้ทาง แม้การทางพิเศษจะสามารถรื้อซากสะพานถล่ม และ กู้คืนพื้นที่บางส่วนในโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวน รอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ให้กลับมาใช้ได้ตามปกติ 

ความจริงเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างถนนพระราม 2

สิ่งที่ผู้ใช้ทางมีความกังวลนอกจากมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างยังมีประเด็นที่เป็นไวรัลในโลกออนไลน์ ที่มีการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า “ลักษณะดินทางธรณีวิทยา พบอันตรายของถนนพระราม 2 โดยเฉพาะใต้ชั้นดินทางธรณี เรียกว่า "แอ่งพรุ" น้ำซึมตลอด ทดลองหลายครั้ง ถมทรายลงไปจำนวนมาก แต่แล้วไม่ช้าน้ำก็เอ่อเข้ามาให้ดินยวบยาบเหมือนเดิมถมเท่าไรก็ไม่เต็มไม่แน่นไม่สามารถแบกรับน้ำหนักโครงสร้างทางวิศวกรรมได้” ผลวิจัยดังกล่าวเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับปัญหาอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนพระราม 2 ทำให้ข้อมูลดังกล่าวดูมีความหนักแน่น แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นตามนั้นหรือไม่นั้นไม่อาจยืนยันได้แน่ชัด 

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ม. เกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ TNN ONLINE ยอมรับว่าพื้นดินใต้ถนนพพระราม 2 เป็นพื้นดินอ่อนจริง แต่ไม่ใช่แค่ถนนพระราม 2 เท่านั้น เพราะพื้นดินในโซนกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลล้วนเป็นพื้นดินอ่อนแทบทั้งสิ้น 


ไขสาเหตุ ถนนพระราม 2 ไม่ควรสร้างทางยกระดับ พื้นดินอ่อน-ชุ่มน้ำ คือตัวปัญหาจริงหรือ?

สรุปข่าว

ผลวิจัยเมื่อหลายสิบปีก่อน สร้างความกังวลเรื่องความมั่นคง และ ปลอดภัยในการก่อสร้างถนนพระราม 2 บนพื้นที่ดินอ่อน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าด้วยเทคโนโลยีและการออกแบบที่เหมาะสม การก่อสร้างบนดินอ่อนสามารถทำได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการก่อสร้างทางยกระดับซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่กลับมีความปลอดภัยสูงที่สุด

สร้างทางยกระดับบนพื้นดินอ่อน ปัญหาหรือทางออก

ข้อยืนยันต่อมา พื้นดินใต้ถนนพระราม 2 ไม่ใช่บริเวณที่มีพื้นดินอ่อนที่สุด แต่คือพื้นที่บางพลี บางบ่อ และ บางส่วนของแปดริ้ว ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีทางยกระดับบูรพาวิถี ซึ่งไม่ค่อยพบปัญหาในการก่อสร้าง นั่นเป็นสิ่งยืนยันว่าพื้นดินอ่อนสามารถสร้างถนนได้ โดยเฉพาะทางยกระดับ 

“ถ้าบอกว่าดินอ่อนก่อสร้างไม่ได้ นั่นหมายความว่าบ้าน 2 ชั้นกว่า 99% ในกรุงเทพฯ จะไม่ก่อสร้างได้เลย เพราะล้วนเป็นการก่อสร้างบนพื้นดินอ่อน ซึ่งในความเป็นจริงบ้าน 2 ชั้นก็สามารถพังได้ ถ้าสร้างไม่ดี สิ่งสำคัญคือเราต้องหากระบวนการที่ลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการก่อสร้างที่มีความเสี่ยง และเมื่อสร้างบนดินอ่อน ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องเข้าใจก่อนว่า ดินอ่อนในกรุงเทพฯ ไม่ได้อ่อนที่สุดที่พระราม 2 แต่จุดที่อ่อนที่สุดคือ บางพลี บางบ่อ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ บริเวณนั้นดินอ่อนที่สุด แต่เราก็สามารถสร้างบูรพาวิถีขึ้นมาได้โดยไม่มีปัญหา นั่นแสดงว่าวิศวกรสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพดินได้”  รศ.สุทธิศักดิ์ อธิบาย 

                                                         แผนภูมิแสดงพื้นที่ดินอ่อนในกรุงเทพฯและปริมณฑล


"บูรพาวิถี" สร้างบนพื้นดินอ่อนที่สุดมา 25 ปี แต่ไม่เคยพังถล่ม  

คำถามต่อมาคือ การสร้างทางยกระดับบนพื้นดินอ่อนเป็นปัญหาหรือไม่? รศ.สุทธิศักดิ์ ยืนยันว่าการก่อสร้างทางยกระดับ หรือ ทางลอยฟ้า ไม่ใช่แค่ก่อสร้างบนพื้นดินอ่อนได้ หรือ ไม่ได้ แต่ทางยกระดับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการก่อสร้างบนพื้นดินอ่อน นั่นเพราะเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่ช่วยลดปัญหาการทรุดตัวของถนน สามารถรองรับปริมาณจราจรได้ดี และให้ความคุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งจุดอ่อนของการก่อสร้างทางยกระดับ คือ มีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าการสร้างถนนในรูปแบบอื่น ๆ

ตัวอย่างโครงสร้างทางยกระดับบนพื้นที่ดินอ่อนที่ใช้งานได้จริง และ มีประสิทธิภาพ เช่น ทางด่วนบูรพาวิถี - สร้างบนพื้นที่ดินอ่อนมาก แต่ไม่มีปัญหาทรุดตัว ดอนเมืองโทลล์เวย์ - เชื่อมต่อสนามบินบนพื้นดินอ่อน ทางด่วนบรมราชชนนี -สร้างมาตั้งแต่ปี 2525 และยังคงใช้งานได้ดี แทนที่จะมองว่าการสร้างทางยกระดับบนดินอ่อนเป็นปัญหา ควรทำความเข้าใจและวางแผนการก่อสร้างให้เหมาะสม ด้วยเทคโนโลยีและความรู้ทางวิศวกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืนได้ แม้ในพื้นที่ที่มีความท้าทายทางธรณีวิทยา” 

ทางยกระดับไม่ใช่จุดอ่อน แต่คือทางเลือกที่ดีที่สุด

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ย้ำว่าการสร้างทางยกระดับบนดินอ่อนสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการออกแบบโครงสร้างให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของดินในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งถนนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ถูกสร้างบนพื้นดินอ่อน จึงมีการใช้วิธีบดอัดพื้นผิวให้แน่น แต่นั่นก็ยังทำให้ทรุดตัวได้ จึงต้องมีการเสริมยางมะตอยหรือปรับระดับอยู่เสมอ ซึ่งเป็นธรรมชาติของดินอ่อน ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร ก็ต้องปรับปรุงดินฐานรากให้แข็งขึ้น 

                                                                         รูปแบบการสร้างถนนบนดินเหนียวอ่อนกรุงเทพฯ 


ทั้งนี้ยืนยันว่าถ้าเป็นการสร้างถนนบนพื้นดินอ่อนทางเลือกที่ดีที่สุดคือการทำทางยกระดับ ซึ่งแม้ว่าทางยกระดับจะมีต้นทุนสูง แต่ให้ประโยชน์ในระยะยาว ทั้งด้านการจราจรที่ลื่นไหลและลดภาระค่าซ่อมบำรุงเมื่อเทียบกับถนนปกติ 

“เรามีโครงสร้างลอยฟ้าหลายเส้นทางอยู่แล้ว เช่น บูรพาวิถี ดอนเมืองโทลล์เวย์ ทางยกระดับบรมราชชนนี อย่างทางพิเศษบูรพาวิถี อยู่ในพื้นที่บางนา สมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อนที่สุดในกรุงเทพฯ และ อ่อนกว่าพื้นที่พระราม 2 แต่ยังแทบไม่พบปัญหาการพังถล่ม แม้สร้างมาแล้วกว่า 25 ปี” 

นั่นคือคำยืนยันจากวิศวกรโยธาผู้เชี่ยวชาญด้านฐานราก ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการสร้างถนน และ ทางยกระดับบนพื้นดินอ่น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับหลักฐานยืนยันเชิงประจักษ์ทั้ง ทางด่วน ทางยกระดับ ทางพิเศษ ทางคู่ขนานลอยฟ้า ที่ตั้งตระหง่านทุกทิศทางรอบกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ดินอ่อนตามธรรมชาติ 

avatar

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์