
สิทธิ์ประกันสังคม และ สิทธิ์บัตรทอง เป็นสองเสาหลักของการให้บริการสุขภาพในประเทศไทย แต่ความแตกต่างในการเข้าถึง และ รับบริการ ระหว่างสองระบบ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นที่มาของคำถามว่าทำไมประเทศไทยต้องมี 2 ระบบสุขภาพ และ ประชาชนมีสิทธิ์เลือกระบบสุขภาพให้กับตัวเองได้หรือไม่
ข้อเสนอการรวมสองระบบเข้าด้วยกันจึงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดคุยกันในวงกว้าง แต่การยุบรวมระบบประกันสุขภาพ 2 ระบบ ให้เหลือหนึ่งเดียวจะช่วยสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่? และ จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร ? ถือเป็นคำถามที่สำคัญไม่แพ้กัน

สรุปข่าว
ประกันสังคมคืออะไร?
ประกันสังคมเป็นระบบที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนในกรณีต่าง ๆ เช่น เจ็บป่วย ว่างงาน ทุพพลภาพ หรือชราภาพ โดยมีการแบ่งผู้ประกันตนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
มาตรา 33 ลูกจ้างเอกชนที่มีนายจ้าง ซึ่งต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน
มาตรา 39 ผู้ที่เคยเป็นลูกจ้าง แต่ลาออกแล้วสมัครใจส่งเงินสมทบต่อไปเอง
มาตรา 40 แรงงานอิสระที่สมัครใจเข้าระบบโดยเลือกจ่ายเงินสมทบตามแผนที่กำหนด
อ่านเพิ่มเติมทางนี้ https://www.tnnthailand.com/social/94097/
สิทธิประกันสังคมครอบคลุมอะไรบ้าง?
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณีหลัก ได้แก่
กรณีเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่เลือกไว้ได้ฟรี
กรณีว่างงาน ได้รับเงินชดเชย 30-70% ของเงินเดือน ตามเงื่อนไขที่กำหนด
กรณีคลอดบุตร ได้รับเงินค่าคลอดบุตร 15,000 บาทต่อครั้ง และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร
กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินช่วยเหลือตลอดชีพหากทุพพลภาพถาวร
กรณีเสียชีวิต ครอบครัวได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์
กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน (ไม่เกิน 3 คน)
กรณีชราภาพ ได้รับเงินบำเหน็จหรือบำนาญเมื่ออายุครบกำหนด
ยกเลิกสิทธิ์ประกันสังคมเพื่อใช้บัตรทองได้หรือไม่?
คำตอบคือสามารถทำได้ แต่ต้องออกจากระบบประกันสังคมก่อน โดยหากเป็นลูกจ้าง (มาตรา 33) ต้องลาออกจากงาน หรือ หากเป็นมาตรา 39 หรือ 40 ต้องหยุดส่งเงินสมทบจนกว่าสิทธิ์จะหมดอายุ
โดยหลังจากออกจากประกันสังคมแล้ว สามารถไปลงทะเบียนบัตรทองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งนี้การออกจากประกันสังคมทำให้เสียสิทธิ์เงินชราภาพและสวัสดิการอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
แม้ว่าประกันสังคมจะให้สิทธิประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีปัญหาที่พบได้บ่อย เช่น ข้อจำกัดของโรงพยาบาลประกันสังคม: บางครั้งโรงพยาบาลที่เลือกอาจให้บริการล่าช้าหรือมีคิวรอนาน การขอรับเงินสิทธิประโยชน์ยุ่งยาก: ผู้ประกันตนบางรายไม่ทราบขั้นตอนการขอรับเงิน หรือมีปัญหาด้านเอกสารรวมถึงการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลไม่สะดวก: หากย้ายที่อยู่แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนโรงพยาบาล อาจต้องเดินทางไกลเพื่อรับการรักษา
ยุบรวบ ประกันสังคม - บัตรทอง คือ ทางออก?
ผศ.ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่าการเปรียบเทียบความคุ้มค่าของสิทธิ์การรักษาพยาบาล ของระบบประกันสังคม และ สิทธิ์บัตรทอง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความรู้สึกของผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือนเพื่อรับสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยมองว่าบริการที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป และ ไม่มีทางเลือกในการใช้สิทธิ์ด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับรายละเอียดในการใช้สิทธิ์การรักษา ไปจนถึงการบริการของโรงพยาบาล
ผศ.ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์
ความไม่สมดุลของทั้งสองระบบทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าทำไมผู้ประกันตนถึงไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบัตรทองได้? และ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ระบบทั้งสองจะรวมกันเป็นระบบเดียว?
นักวิชาการ มองว่าหากมีการยุบรวมระบบหลักประกันสุขภาพให้เหลือสิทธิ์เดียว ข้อดี คือ ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลได้เท่าเทียมกัน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ แต่ก็ยังมีอุปสรรค คือ การจัดสรรงบประมาณของรัฐเพิ่มเติมเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้การควบรวมสองระบบเป็นหนึ่งเดียวจะช่วยให้เกิดการรวมข้อดีของทั้งสองระบบเข้าด้วยกัน ผ่านการบริหารจัดการโดยกองทุนเดียว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ
ก้าวแรกสู่การปฏิรูประบบสุขภาพของไทย
ก่อนจะรวมระบบให้เป็นหนึ่งเดียว การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสำนักงานประกันสังคมเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรต้องมีความโปร่งใส ยืดหยุ่น และมีการบริหารงานโดยมืออาชีพ หากรัฐสามารถปรับปรุงการจัดการกองทุนสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การรวมสิทธิประกันสังคมและบัตรทองก็อาจไม่ใช่เพียงแค่แนวคิดในอุดมคติอีกต่อไป
ทั้งนี้จะเห็นว่าระบบสุขภาพที่เป็นธรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากมีการบริหารที่ดีและนโยบายที่เหมาะสม การรวมสิทธิประกันสังคมและบัตรทองอาจเป็นทางออกที่ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่ในขณะเดียวกันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในเชิงปฏิบัติ
ผศ.ดร.กฤษฎา เสนอว่าการคงระบบเดิมไว้ แต่ปรับปรุงให้เท่าเทียมมากขึ้นอาจเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งอาจมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมให้เทียบเท่ากับบัตรทอง รวมถึงปรับโครงสร้างงบประมาณให้ครอบคลุมและเป็นธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการตั้งคำถามของสังคมกับการทำหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมจะนำมา ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงเพื่อระบบที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เพื่อสุขภาพของคนไทยทุกคนต้องดีขึ้นอย่างเท่าเทียมด้วย
ที่มาข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม , สปสช. , สัมภาษณ์ ผศ.ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์
ที่มารูปภาพ : สำนักงานประกันสังคม , สปสช. , ผศ.ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์