
ยุโรปเตรียมปล่อยดาวเทียม ไมโครคาร์บ (MicroCarb) ดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบมาเพื่อวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์จากในชั้นบรรยากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก คาดว่าจะปล่อยดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้เร็วที่สุดเดือนกรกฎาคมนี้
ไมโครคาร์บ (MicroCarb) เป็นดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นเพื่อวัดแหล่งที่มาและแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยติดตั้งเครื่องมือพิเศษที่ช่วยวิเคราะห์รังสีจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนจากโลกในช่วงอินฟราเรดกลาง

สรุปข่าว
โดยดาวเทียมจะทำหน้าที่วัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และประเมินปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา ทั้งจากแหล่งธรรมชาติและจากมนุษย์ และวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับโดยแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติ เช่น มหาสมุทร และป่าไม้ เพื่อดูการไหลเวียนของก๊าซ
ภารกิจการพัฒนาและส่งดาวเทียมดวงนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การศึกษาวิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES) ร่วมกับหน่วยงานอวกาศของสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป โดยมี แอร์บัส (Airbus) เป็นผู้สร้างดาวเทียม
โดยปัจจุบันได้มีการส่งดาวเทียมดวงนี้ไปยังเมืองตูลูส (Toulouse) ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเตรียมปล่อยขึ้นสู่อวกาศ โดยดาวเทียมจะโคจรที่ระดับความสูง 650 กิโลเมตร และจะทำซ้ำวงจรการสังเกตและการวัดทุก 21 วัน
ดาวเทียมดวงนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการเคลื่อนที่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกได้ดีขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นเหมือนดวงตาที่คอยสอดส่องว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกปล่อยจากที่ไหน และถูกดูดซับไปที่ใดบ้าง
ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกหลักที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และช่วยให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มารูปภาพ : CNES

อารียา ใจสุข