สเปนคิด “AI” อัจฉริยะ บอกความเสี่ยงโรคได้จากสีหน้า สแกนได้พร้อมกันหลายพันคน

บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีจากสเปน นิวโรโลจีกา (Neurologyca) ได้พัฒนา โคเปอร์นิกา (Kopernica) ระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถวิเคราะห์ความรู้สึก หรือตรวจจับภาวะทางระบบประสาทต่าง ๆ จากใบหน้าของผู้คนได้อย่างแม่นยำ และยังใช้งานได้พร้อมกันกับกลุ่มคนจำนวนมาก

สเปนคิด “AI” อัจฉริยะ บอกความเสี่ยงโรคได้จากสีหน้า สแกนได้พร้อมกันหลายพันคน

สรุปข่าว

นิวโรโลจีกา สตาร์ตอัปสเปน พัฒนา "โคเปอร์นิกา" ระบบ AI ที่วิเคราะห์ความรู้สึกและตรวจจับภาวะทางประสาทจากใบหน้าได้อย่างแม่นยำและพร้อมกันในกลุ่มคนจำนวนมาก โดยใช้ข้อมูลใบหน้าจำนวนมหาศาลและโมเดล AI หลากหลายรูปแบบเพื่อวัดอารมณ์ได้ถึง 92 รูปแบบ และอารมณ์โดยรวมของฝูงชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของ AI ให้เข้าใจและโต้ตอบกับมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงอาจช่วยตรวจจับสัญญาณบ่งชี้โรคบางชนิดได้ล่วงหน้า โดยบริษัทตระหนักถึงข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวและจริยธรรม และยืนยันว่าจะไม่เก็บข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลได้ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้ในหลายภาคส่วน

โดยในงานแสดงเทคโนโลยี AI ซึ่งจัดขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ บริษัทได้นำผลงานนี้ไปทดสอบประเมินการแสดงอารมณ์ของผู้คนแบบทันทีโดยใช้คลังข้อมูลกว่า 13,000 ล้านจุด เพื่อจับการแสดงความรู้สึกของมนุษย์รวมถึงใช้โมเดลความฉลาดหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการประมวลผลภาษาธรรมชาติ, การรู้จำเสียง, การตีความภาษากาย มาวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน 


ทั้งหมดนี้ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการมองเห็นของคอมพิวเตอร์ และให้ความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับสถานะทางอารมณ์ของบุคคล โดยวัดการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันได้ถึง 92 อารมณ์ และสามารถวัดการแสดงอารมณ์ความรู้สึกโดยรวมของฝูงชนได้พร้อมกันหลายร้อยหรือหลายพันคน


ทั้งนี้เป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ใน AI เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการโต้ตอบระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นช่วยทำให้ AI มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เข้าใจการสื่อสารกับมนุษย์ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากมุมมองด้านความเห็นอกเห็นใจ หรือด้านอารมณ์ต่าง ๆ 


บริษัทอ้างว่าเทคโนโลยีนี้ ยังสามารถช่วยตรวจจับภาวะทางการแพทย์บางอย่างได้ล่วงหน้า เช่น เมื่อคนเรามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง บางคนก็จะเริ่มแสดงรูปแบบอารมณ์ที่เป็นเอกลักษณ์บนใบหน้า ซึ่งบางครั้งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ AI ทำได้ โดยมองเห็นถึงการเคลื่อนไหวเล็กน้อยบนใบหน้า รวมถึงการขยายตัวของรูม่านตา จึงอาจจะช่วยให้ระบุสัญญาณอันตรายของโรคได้เร็วขึ้น

เทคโนโลยีนี้ จึงสามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย ตั้งแต่ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ หรือการดูแลความปลอดภัย โดยปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนาวิธี เพื่อให้ผู้สร้างเทคโนโลยีรายอื่น สามารถใช้เครื่องมือของพวกเขาในแอปพลิเคชันได้ง่ายขึ้น 


อย่างไรก็ตามบริษัททราบดีถึงข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัว และจริยธรรมในการใช้งาน AI โดยบริษัทยืนยันว่าระบบ จะไม่เก็บข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ โดยปัจจุบันระบบนี้ได้ถูกนำไปใช้ในหลากหลายสาขา เช่น การดูแลสุขภาพ การศึกษา ความปลอดภัย และการป้องกันประเทศ

avatar

อารียา ใจสุข

แท็กบทความ

โรคสมองหลอดเลือดสมองAI
AI ตรวจโรค
เทคโนโลยีการแพทย์
tnntech