
เอ็ดเวิร์ด แอชตัน (Edward Ashton) นักวิจัยจากสถาบันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากอคาเดเมีย ซินิกา (Academia Sinica Institute of Astronomy and Astrophysics) ในไต้หวันและทีมงานนานาชาติ ค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กรอบดาวเสาร์กว่า 128 ดวง ทำให้ดาวเสาร์กลายเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มีดวงจันทร์โคจรรอบรวมกว่า 274 ดวง

สรุปข่าว
เบื้องหลังการค้นพบดวงจันทร์ 128 ดวง ของดาวเสาร์
งานวิจัยดังกล่าวค้นพบกลุ่มวัตถุ 128 จุด ซึ่งส่วนใหญ่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 กิโลเมตร ส่องแสงในพื้นที่ว่างใกล้ดาวเสาร์ ซึ่งมีระดับความสว่างใกล้เคียงกับจุดแสงในภาพพื้นหลังจากล้องโทรทรรศน์ ฝรั่งเศส - แคนาดา - ฮาวาย (Canada France Hawaii Telescope) ที่ตั้งในรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2023
โดย Edward สังเกตว่ากลุ่มแสงดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ตั้ง จากเดิมที่คำนวณแล้วห่างจากดาวเสาร์ประมาณ 10 ล้านกิโลเมตร กลายเป็นประมาณ 29 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณการโคจรรอบดาวเสาร์
จากนั้นทีมวิจัยได้เริ่มศึกษารูปแบบการเปลี่ยนตำแหน่งของกลุ่มวัตถุที่ค้นพบเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นดวงจันทร์รอบดาวเสาร์ จนได้ข้อสรุปว่ากลุ่มวัตถุดังกล่าวมีแนวโคจรในลักษณะทำมุมชันกับเส้นศูนย์สูตร (Equator) ของดาวเสาร์ ทำให้ส่วนใหญ่จะโคจรด้านหลังของดาวเมื่อมองจากโลกมากกว่า จนพบเห็นได้ยาก ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยจึงสรุปว่ากลุ่มวัตถุเหล่านี้คือดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่เพิ่งค้นพบ
ดวงจันทร์ดาวเสาร์อาจเป็นหลักฐานการชนกันในระบบสุริยะ
นักวิจัยยังศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มดวงจันทร์ และจัดกลุ่มดวงจันทร์ 47 จาก 128 ดวง เป็นกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายกันและตั้งชื่อให้ว่า มุนดิลฟารี (Mundilfari) พร้อมกับสันนิษฐานว่า Mundilfari อาจเป็นเศษซากที่เหลือจากการที่ดาวเคราะห์และวัตถุในแนวโคจรรอบดาวเสาร์ชนกันเองเมื่อ 100 ล้านปีก่อน ซึ่งอาจถือได้ว่า Mundilfari เป็นหลักฐานของเหตุการณ์การชนกันในระบบสุริยะใหญ่และใหม่มากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในกรอบเวลาของจักรวาล
นอกจากนี้ การค้นพบดวงจันทร์ทั้ง 128 ดวง ต่างมีรูปทรงคล้ายกลับมันฝรั่ง ซึ่งต่างจากความเข้าใจเดิมของนักวิทยาศาสตร์ที่มักพบดวงจันทร์มีลักษณะคล้ายทรงกลมมากกว่า และอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งทางวิชาการถึงนิยามในการกำหนดความเป็นดวงจันทร์ในอนาคตได้ และยังรวมไปถึงอาจเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการไขปริศนาที่มาของวงแหวนดาวเสาร์ ที่สนับสนุนสมมติฐานว่าเกิดมาจากการแตกสลายของดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเสาร์ก็ได้เช่นกัน
ด้านงานวิจัยดังกล่าวได้ไส่งไปตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Astronomy and Astrophysics แล้ว แต่ยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา (Peer reviewd) พร้อมกันนี้ได้อัปโหลดแบบคู่ขนานบนแพลตฟอร์มอาร์ไคฟ์ (Arxiv) ซึ่งเปิดให้เข้าถึงเนื้อหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล : New York Times, The Guardian, Earth Sky
ที่มารูปภาพ : NASA

Thanaboon Soasawang