
อย่างที่ทราบกันดีว่ามนุษย์เรา สามารถมีฟันได้สูงสุด 32 ซี่ในเวลาเดียวกัน และถ้าหากเรามีฟัน 32 ซี่เต็มจำนวนสูงสุด แน่นอนว่าเมื่อเรายิ้ม ก็อาจเห็นฟันเรียงตัวกันแน่นขนัดเต็มปาก แต่รู้หรือไม่ว่าในโลกนี้ มีสัตว์หลายชนิดที่มีจำนวนฟันเยอะกว่ามนุษย์เราหลายเท่า และในบรรดาสัตว์ทั้งหมดที่มนุษย์รู้จักนี้ “หอยทาก” เป็นสัตว์ที่มีจำนวนฟันเยอะที่สุดในโลก
บทความนี้จะพาไปเปิดปาก ส่องฟันของสัตว์โลกที่น่าสนใจ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกัน จำนวนฟันสูงสุดในบทความนี้ หมายถึงจำนวนฟันที่ปรากฏในปากของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่ฟันที่งอกและหายไปจากปาก ตลอดอายุขัยของสัตว์
เริ่มต้นทำความรู้จักจำนวนฟันของสัตว์ชนิดแรก อย่าง อาร์มาดิลโลยักษ์ (giant armadillo หรือ Priodontes maximus) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระดองเป็นเกราะแข็งปกคลุมร่างกาย มีสี่ขา มีกรงเล็บยาว ใช้สำหรับขุดดินเพื่อหาอาหารหรือสร้างโพรง พบได้ในทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีฟันมากที่สุดในโลก โดยสามารถมีฟันมากถึง 100 ซี่ในเวลาเดียวกัน ฟันเหล่านี้ช่วยอาร์มาดิลโลยักษ์ในการย่อยอาหารอย่างพวกแมลง เช่น มด และปลวก

สรุปข่าว
ในขณะเดียวกัน สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีฟันเยอะที่สุดในโลก คือ ตุ๊กแกหางใบไม้แห่งมาดากัสดาร์ (common leaf-tailed gecko of Madagascar หรือ Uroplatus fimbriatus) โดย บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness World Records) รายงานว่ามันมีฟันบนมากถึง 169 ซี่ และฟันล่าง 148 ซี่ รวมกันแล้วมีฟันรวมกันทั้งหมดได้มากถึง 317 ซี่
ส่วนนกเป็นสัตว์ที่ไม่มีฟัน เนื่องจากมันวิวัฒนาการจนฟันสูญหายไปเมื่อประมาณ 100 ล้านปีที่แล้ว ปรับเปลี่ยนมาเป็นจะงอยปากอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้แทน
สัตว์ที่มีฟันที่น่าสนใจอีก 2 ชนิด ได้แก่ ฉลาม ที่มีฟันงอกออกมาตลอดช่วงชีวิตกว่าหมื่นซี่ ในขณะที่ฉลามขาว (great white sharks หรือ Carcharodon carcharias) อาจมีฟันได้มากถึง 300 ซี่ในเวลาเดียวกัน ส่วนปลาลิงคอดแปซิฟิก (Pacific lingcod หรือ Ophiodon elongatus) มีฟันประมาณ 555 ซี่ เรียงรายอยู่ตามขากรรไกรของมัน และมีงานวิจัยระบุว่า ในหนึ่งวัน มันอาจสูญเสียฟันประมาณ 20 ซี่ และสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ภายในเวลาไม่นาน
แต่จำนวนฟันของสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ เทียบไม่ได้เลยกับจำนวนฟันของหอยทาก ซึ่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กลาสโกว์ (Glasgow Science Centre) ประเทศสกอตแลนด์ รายงานว่า หอยทากมีจำนวนสิ่งที่เรียกว่า เดนติเคิลส์ (Denticles) หรือโครงสร้างคล้ายฟัน สร้างจากไคตินแทนที่จะเป็นแคลเซียมเหมือนฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยสามารถมีจำนวนมากถึง 14,000 ซี่ในเวลาเดียวกัน เรียงรายอยู่ตามอวัยวะคล้ายลิ้นที่เรียกว่า ราดูลา (Radula)
ทอม ไวท์ (Tom White) หัวหน้าภัณฑารักษ์อาวุโสด้านสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ไม่ใช่แมลง ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอนดอน ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “สัตว์ในไฟลัมมอลลัสก์ส (Molluscs เป็นไฟลัมหนึ่งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลักษณะเด่นคือมีลำตัวนิ่ม ส่วนใหญ่มีเปลือกแข็งหุ้มอยู่ภายนอก) ทั้งที่กินพืชและกินเนื้อจะใช้ราดูลาในการขูดเศษอาหารเข้าปาก ดังนั้นมันจึงถูกเรียกด้วยภาษาละตินว่า ราดูลา แปลว่า เครื่องขูดขนาดเล็ก”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่น่าสนใจอย่างมาก ครั้งหน้าเมื่อเรายิ้มหน้ากระจก ก็อาจเปิดจินตนาการให้กว้างไกลไปถึงรอยยิ้มและฟันของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลกได้อย่างสร้างสรรค์ทีเดียว
ที่มาข้อมูล
ที่มาข้อมูล : ที่มาข้อมูล iflscience guinnessworldrecords
ที่มารูปภาพ : Unsplash