
การวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณ (Ancient DNA) ระบุว่าผู้คนจากคอเคซัสบริเวณแม่น้ำโวลก้าตอนล่างเป็นบรรพบุรุษของชาวยัมนายา (Yamnaya) ต้นกำเนิดภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม (Proto-Indo-European) กลุ่มภาษาที่ใหญ่และมีผู้พูดมากที่สุดในโลก ครอบคลุมทั้งยุโรป อินเดีย เอเชียใต้ และบางส่วนของเอเชียกลาง
หลักฐานจากดีเอ็นเอโบราณ (Ancient DNA)
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและพันธมิตรจากนานาชาติใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) จากซากเมืองโบราณกว่า 1,000 ตัวอย่าง โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่ามีประชากรอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้ายูเรเซียภายในเขตชายแดนของรัสเซียในปัจจุบัน ในช่วงยุคทองแดงเมื่อประมาณ 6,500 ปีก่อน
การศึกษาดีเอ็นเอโบราณ (Ancient DNA) มีบทบาทสำคัญในการระบุต้นกำเนิดและเส้นทางวิวัฒนาการของมนุษย์กลุ่มต่าง ๆ โดยใช้เทคนิคทางพันธุศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่ได้จากฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์และบรรพบุรุษของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ดีเอ็นเอโบราณมักเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ทำให้ต้องใช้เทคนิคเฉพาะ เช่น การขยายดีเอ็นเอ (PCR) และเทคโนโลยีการอ่านลำดับพันธุกรรมแบบ Next-Generation Sequencing (NGS) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล
ผลการศึกษาดีเอ็นเอโบราณ (Ancient DNA) บ่งชี้ว่าสมาชิกในกลุ่มดังกล่าวผสมอยู่กับผู้คนจากคอเคซัสบริเวณแม่น้ำโวลก้าจนเกิดเป็นจีโนม (Genome) ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของชาวยัมนายา (Yamnaya) และช่วยเสริมสมมติฐานทุ่งหญ้า (Steppe Hypothesis) ซึ่งถูกใช้อ้างว่าชาวยัมนายาเป็นแหล่งกำเนิดและผู้เผยแพร่ภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม (Proto-Indo-European)
ชาวยัมนายา (Yamnaya) เป็นกลุ่มชนโบราณที่อาศัยอยู่ในยุคสำริดตอนต้น เมื่อประมาณ 3,300–2,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในบริเวณที่ราบกว้างใหญ่ของทุ่งหญ้าสเตปป์ยูเรเชีย (Eurasian Steppe) ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนใต้ของรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถานในปัจจุบัน เชื่อว่าชาวยัมนายาเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีรถเทียมม้า ซึ่งช่วยให้พวกเขาเคลื่อนที่ได้เร็วและแพร่กระจายอิทธิพลทางภาษา วัฒนธรรม และพันธุกรรมไปยังดินแดนต่าง ๆ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าชาวยุโรปในปัจจุบันมีพันธุกรรมที่สืบทอดมาจากชาวยัมนายาประมาณ 50–70% ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มชาวยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออก

สรุปข่าว
ข้อขัดแย้งทางทฤษฎี
ปัจจุบันต้นกำเนิดของภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม (Proto-Indo-European) มีการแบ่งออกเป็น 2 สมมติฐานหลัก ๆ ด้วยกัน
1. สมมติฐานทุ่งหญ้า (Steppe Hypothesis) โดยชี้ว่าภาษานี้เกิดขึ้นในทุ่งหญ้ายูเรเซีย หรือประเทศยูเครน รัสเซีย คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน มองโกเลียทอดยาวไปถึงจีน เมื่อราว 6,500 ปีก่อน และแพร่กระจายมาจากกลุ่มชาวยัมนายา (Yamnaya) สมมติฐานนี้เสนอโดย มาริจา กิมบูตัส (Marija Gimbutas) นักโบราณคดีชาวลิทัวเนีย-อเมริกัน ในช่วงทศวรรษ 1950
2. สมมุติฐานอนาโตเลีย (Anatolian Hypothesis) ซึ่งเสนอว่าภาษาอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม นั้นมีต้นกำเนิดจากเกษตรกรในอนาโตเลีย หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน เมื่อราว 9,000 ปีก่อน และแพร่กระจายออกไปพร้อมกับการปฏิวัติทางเกษตรกรรม สมมุติฐานนี้เสนอโดย โคลิน เรนฟรูว์ (Colin Renfrew) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ในปี 1987
ผลกระทบของการศึกษาต่อความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์
การค้นพบนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างของความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของภาษาอินโด-ยูโรเปียน และยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาในอดีตเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการเคลื่อนย้ายของประชากร
นอกจากนี้ ยังเผยให้เห็นว่าชาวยัมนายา (Yamnaya) ไม่เพียงแต่เป็นผู้เผยแพร่ภาษา แต่ยังนำวัฒนธรรมการฝังศพแบบคูร์กัน ซึ่งเป็นหลุมศพขนาดใหญ่ที่มีดินทับด้านบน ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วทั้งยุโรปและเอเชีย
อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาทางโบราณคดีในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะบริเวณเมืองไมคาอิลิฟกา ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมชาวยามนายา (Yamnaya)
นักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นหาคำตอบเกี่ยวกับต้นกำเนิดที่แท้จริงของภาษาอินโด-ยูโรเปียน แม้ว่าจะมีหลักฐานทางพันธุกรรมและโบราณคดีที่สนับสนุนสมมติฐานต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด
นอกจากนี้ ภาษาอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม (Proto-Indo-European) ยังมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรน้อย เพราะเป็นภาษาพูดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังนั้น การศึกษาทางพันธุกรรมโดยตรวจสอบจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณ จึงอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขปริศนาทางประวัติศาสตร์ แต่ยังต้องใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด
ที่มาข้อมูล : https://hms.harvard.edu/news/ancient-dna-study-identifies-originators-indo-european-language-family
ที่มารูปภาพ : Wikipedia

พีรพรรธน์ เชื้อจีน