
ยานสำรวจบลู โกสต์ (Blue Ghost) ของบริษัท ไฟร์ฟลาย แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ และได้ส่งภาพทิวทัศน์จากพื้นผิวดวงจันทร์กลับมายังโลก นับเป็นก้าวสำคัญของการสำรวจอวกาศโดยบริษัทเอกชน
ยานสำรวจบลู โกสต์ (Blue Ghost) ลงจอดที่พื้นที่มาเร ครีเซียม (Mare Crisium) หรือ "ทะเลแห่งวิกฤต" โดยสามารถปรับเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและลงจอดได้อย่างแม่นยำภายในระยะ 100 เมตร จากจุดหมายใกล้บริเวณเนินเขามงส์ ลาตรีย์ (Mons Latreille) บนดวงจันทร์
"นี่เป็นความท้าทายทางเทคนิคที่ยิ่งใหญ่ และเรารู้สึกยินดีที่ยานสามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัย" โจเอล เคียร์นส์ รองผู้บริหารฝ่ายสำรวจจากสำนักงานภารกิจวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา (NASA) กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้

สรุปข่าว
หลังจากลงจอดไม่นานบริษัท ไฟร์ฟลาย แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) ได้เผยแพร่ภาพแรกจากพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งส่งผ่านสัญญาณในย่านความถี่ S โดยคาดว่าจะมีภาพความละเอียดสูงขึ้นจากย่านความถี่เอ็กซ์ (X) ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เมื่อเสาอากาศหลักถูกติดตั้ง
บริษัท ไฟร์ฟลาย แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) ตัดสินใจไม่ถ่ายทอดสดวิดีโอการลงจอดเพื่อรักษาแบนด์วิดท์ไว้สำหรับการวัดระยะไกลและระบบความปลอดภัย โดยเฉพาะระบบหลีกเลี่ยงอันตราย ซึ่งช่วยให้ยานสำรวจบลู โกสต์ (Blue Ghost) สามารถหลบก้อนหินขนาดใหญ่บนพื้นผิวได้อย่างน้อยสองก้อน
หลังจากลงจอดยานสำรวจบลู โกสต์ (Blue Ghost) จะดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 14 วัน หรือเทียบเท่าหนึ่งวันบนดวงจันทร์ โดย เจสัน คิม ซีอีโอของบริษัท ไฟร์ฟลาย แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) ระบุว่า "ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นความท้าทาย แต่เรามั่นใจว่าทีมงานจะสามารถรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์จากภารกิจได้สำเร็จ"
ก่อนถึงดวงจันทร์ยานสำรวจบลู โกสต์ (Blue Ghost) เดินทางไกลถึง 2.8 ล้านไมล์ หรือ 4,506,163.2 กิโลเมตร (รวมระยะทางการโคจรรอบโลกและดวงจันทร์) ในระยะเวลา 45 วัน โดยส่งข้อมูลกลับมายังโลกมากถึง 27 GB เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
รวมถึงการติดตามสัญญาณจากระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลก และการวัดระดับแถบรังสีแวนแอลเลน (Van Allen) ขณะนี้บริษัท ไฟร์ฟลาย แอโรสเปซ (Firefly Aerospace) กำลังมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ และเตรียมทดสอบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของโครงการสำรวจดวงจันทร์เชิงพาณิชย์ในอนาคต
ความสำเร็จของยานสำรวจบลู โกสต์ (Blue Ghost) นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในการสำรวจดวงจันทร์ต่อไป
ที่มาข้อมูล : Firefly Aerospace
ที่มารูปภาพ : Firefly Aerospace

พีรพรรธน์ เชื้อจีน