ฝรั่งเศสเปิดดวงอาทิตย์เทียมนานกว่า 22 นาที ทำลายสถิติโลกเดิมของจีน

เครื่องโทคาแมคเวสต์ (Tungsten Environment in Steady-state Tokamak: WEST) หรือดวงอาทิตย์เทียมจากฝรั่งเศสสร้างสถิติโลกในการเปิดใช้งานดวงอาทิตย์เทียมต่อเนื่องสูงสุดถึง 1,337 วินาที หรือ 22 นาที 17 วินาที ทำลายสถิติเดิมของเครื่องอีสต์ (Experimental Advanced Superconducting Tokamak: EAST) จากจีน ที่เคยทำไว้ที่ 1,066 วินาที หรือ 17 นาที 46 วินาที 






ฝรั่งเศสเปิดดวงอาทิตย์เทียมนานกว่า 22 นาที ทำลายสถิติโลกเดิมของจีน

สรุปข่าว

เครื่องโทคาแมค (Tokamak) หรือเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน (Fusion Reactor) จากฝรั่งเศส ทำสถิติโลกในการเปิดใช้งานต่อเนื่องสูงสุด 1,337 วินาที (22 นาที กับ 17 วินาที) เอาชนะเครื่องโทคาแมคของจีนที่เคยทำสถิติไว้ที่ 1,066 วินาที (17 นาที กับ 46 วินาที)

ทำไมต้องทำสถิติเปิดดวงอาทิตย์เทียมให้นานที่สุด

เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชัน (Fusion Reactor) หรืออีกชื่อว่าดวงอาทิตย์เทียม (Artificial sun) เป็นเครื่องจำลองปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) ซึ่งเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ที่ให้พลังงานมหาศาลและมีความปลอดภัยสูงกว่าพลังงานนิวเคลียร์จากการสลายพลังงานของสาร หรือนิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) ในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม อุปสรรคโดยพื้นฐานในปัจจุบันคือต้นทุนพลังงานที่จะต้องใช้สร้างกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชัน อย่างเช่น พลาสมา (Plasma) ของไฮโดรเจน (H) ที่เป็นหัวใจของนิวเคลียร์ฟิวชัน สูงกว่าพลังงานที่เครื่องโทคาแมคจะผลิตออกมาได้ และอีกปัญหาที่สำคัญ คือการคงสภาพพลาสมา รวมถึงระดับพลังงานในเครื่องให้นานพอจะผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องได้

การทดสอบดวงอาทิตย์เทียมที่นานที่สุดในโลก

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจากฝรั่งเศสจึงได้ทดสอบการสร้างพลาสมาไฮโดรเจนกำลัง 2 เมกะวัตต์ (MW) และรักษาสภาพดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจนทำสถิติไว้ที่ 1,337 วินาที เอาชนะสถิติเดิมของอีสต์ที่อยู่ในเมืองเหอเป่ยของจีนที่ทำสถิติ 1,066 วินาที ได้สำเร็จ


ความสำเร็จดังกล่าวจะถูกถอดบทเรียนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบกับไอเทอร์ (ITER: International Thermonuclear Experimental Reactor) เครื่องโทคาแมคที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเช่นกัน รวมถึงเตรียมยกระดับการทดสอบกับเวสต์ให้สามารถสร้างพลาสมาได้อย่างน้อย 2- 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดและยั่งยืนในอนาคต


ที่มาข้อมูล : Phys.org, New Atlas, Wikipedia, CEA

ที่มารูปภาพ : CEA

avatar

ThanaboonSoasawang
()