รู้จักสไลม์ (Slime) เยลลี่มหัศจรรย์ประโยชน์ด้านการแพทย์และผลิตไฟฟ้าได้เมื่อถูกบีบอัด

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกวาล์ฟ (Guelph) ประเทศแคนาดา ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสไลม์ (Slime) เยลลี่เด้งดึ๋งสามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้เมื่อถูกบีบหรืออัด โดยวัสดุดังกล่าวประกอบด้วยน้ำ 90% กรดโอเลอิกจากน้ำมันมะกอก และกรดอะมิโน ซึ่งเป็นส่วนผสมจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผิวหนังมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสไลม์ชนิดนี้อาจมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งในด้านพลังงานและการแพทย์

ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ทีมวิจัยคาดการณ์ว่าหากนำสไลม์ไปติดตั้งบนพื้นบ้าน มันจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เมื่อมีการเดินผ่าน เนื่องจากแรงกดที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้สไลม์สร้างกระแสไฟฟ้า โดยโครงสร้างจุลภาคของสไลม์มีโครงสร้างเป็นผลึกที่เรียงตัวกันในรูปแบบเฉพาะ เช่น โครงสร้างหกเหลี่ยม (Hexagonal) หรือชั้น ๆ คล้ายลาซานญ่า (Layered) อาจมีคุณสมบัติเปลี่ยนรูปร่างและกระตุ้นให้เกิดการสะสมประจุไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าเล็ก ๆ

นอกจากนี้ วัสดุนี้ยังอาจกลายเป็นรากฐานของผิวหนังสังเคราะห์ที่ใช้ฝึกหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ให้สามารถเรียนรู้วิธีใช้แรงกดที่เหมาะสมเมื่อตรวจวัดชีพจรของผู้ป่วย

ประโยชน์ทางด้านการแพทย์

การศึกษาในศูนย์วิจัย Canadian Light Source ของมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน (Saskatchewan) ประเทศแคนาดา โดย ดร. เอริกา เพนซินี (Dr. Erica Pensini) หัวหน้าคณะวิจัยและรองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยกวาล์ฟ (Guelph) อธิบายว่า ซินโครตรอนที่ใช้ในการศึกษาทำหน้าที่คล้ายกล้องจุลทรรศน์กำลังสูง ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผลึกของวัสดุเมื่อถูกกระตุ้นด้วยสนามไฟฟ้า และนำไปสู่การเข้าใจโครงสร้างระดับจุลภาคของสไลม์ (Biofilm)

ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวสามารถช่วยพัฒนาวิธีป้องกันการเกิดไบโอฟิล์มของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการติดเชื้อในโรงพยาบาล และค้นหาสาเหตุของการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมไปถึงโครงสร้างคล้ายหกเหลี่ยมของสไลม์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวัสดุห่อหุ้มยา (Drug delivery system) ซึ่งช่วยให้ยาถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นระบบเมื่ออยู่ในร่างกาย

นักวิทยาศาสตร์ยังมองเห็นศักยภาพของสไลม์ไฟฟ้าในด้านการแพทย์ โดยเฉพาะในการพัฒนาแผ่นปิดแผลที่สามารถช่วยเร่งกระบวนการรักษาบาดแผล เมื่อตัววัสดุได้รับสนามไฟฟ้า โครงสร้างของมันจะสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อปล่อยตัวยารักษาได้ นอกจากนี้ กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นยังสามารถดึงดูดเซลล์ซ่อมแซมให้เข้าสู่บาดแผลเร็วขึ้น ซึ่งอาจช่วยเร่งกระบวนการฟื้นตัวของผู้ป่วย

แม้ว่าขณะนี้ต้นแบบของสไลม์ที่ผลิตไฟฟ้าได้จะถูกพัฒนาเรียบร้อยแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้เปิดเผยแผนการผลิตในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ได้สร้างความตื่นเต้นในแวดวงวิทยาศาสตร์ และอาจนำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานและการแพทย์ในอนาคต

รู้จักสไลม์ (Slime) เยลลี่มหัศจรรย์ประโยชน์ด้านการแพทย์และผลิตไฟฟ้าได้เมื่อถูกบีบอัด

สรุปข่าว

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกวาล์ฟ พัฒนาเยลลี่สไลม์ สร้างกระแสไฟฟ้าได้เมื่อถูกบีบหรืออัด วัสดุนี้อาจนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพัฒนาเป็น แผ่นปิดแผลอัจฉริยะ ที่ช่วยเร่งการรักษาบาดแผลผ่านกระแสไฟฟ้า งานวิจัยนี้เปิดโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมพลังงานและการแพทย์