
คดีของ แจ๊คเดอะริปเปอร์ (Jack The Ripper) เป็นฆาตกรต่อเนื่องในยุคศตวรรษที่ 19 แห่งย่านไวต์ชาเปล (Whitechapel) ในมหานครลอนดอนของอังกฤษ เป็นคดีที่ไขไม่ได้กว่า 137 ปี นับตั้งแต่ปี 1888 จนถึงปัจจุบัน
แต่ล่าสุด มีกระแสข่าวอ้างว่านักวิจัยได้สกัดรหัสพันธุกรรม (DNA) บนคราบอสุจิและเลือดของฆาตกร บนผ้าคลุมที่พบบนศพเหยื่อรายหนึ่งได้สำเร็จ และพบว่าตรงกับ "อารอน คอสมินสกี้ (Aaron Kosminski)" ช่างตัดผมชาวโปแลนด์ที่อพยพมาอยู่ในลอนดอนช่วงเวลานั้น แต่ทั้งหมดนี้ อาจจะยังไม่ใช่บทสรุปของมหากาพย์ฆาตกรแห่งย่านไวต์ชาเปล

สรุปข่าว
ความเป็นมาของแจ๊คเดอะริปเปอร์ (Jack The Ripper)
Jack The Ripper เป็นชื่อฉายาที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่ลงข่าวจดหมายลึกลับ ที่ตัวฆาตกรเขียนถึงสำนักข่าวในยุคนั้น โดยเจ้าตัวได้ก่อเหตุในลักษณะโหดเหี้ยมกับหญิงสาวที่ขายบริการทางเพศ เช่น การตัดชิ้นส่วนอวัยวะ หรือการสร้างบาดแผลทารุณ โดยมีจำนวนเหยื่อเชื่อว่ารวมอย่างน้อย 5 ราย ระหว่างเดือนสิงหาคม ปี 1888 - พฤศจิกายน ปี 1891 ก่อนที่ฆาตกรจะหายสาบสูญ จนต้องยุติการสืบสวน โดยไม่รู้ว่าคนร้ายเป็นใคร
การสืบสวนคดีในตอนนั้นแทบไม่มีข้อมูล เนื่องจากเหยื่อทั้ง 5 ราย นอกจากเป็นผู้หญิงขายบริการแล้ว ก็ไม่มีความเชื่อมโยงอื่นอีก รวมถึงเทคโนโลยีนิติเวชในเวลานั้นยังไม่ก้าวหน้ามากนัก ตลอดจนผู้ต้องสงสัยทั้งหมด ต่างมีความหลากหลายทั้งพื้นเพและอาชีพ โดยถูกโยงกับเจ้าชายของราชวงศ์อังกฤษในภายหลังด้วย
ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยที่สำคัญ 2 คน คนหนึ่งคือ มองตาดู จอห์น ดรูอิทท์ นั้นจมน้ำตายในปี 1890 โดยสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย กับ อารอน โคสมินสกี้ ช่างตัดผมชาวโปแลนด์ ที่อพยพมาทำงานในย่านไวต์ชาเปลนั้น ก็ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจิตเวชและเสียชีวิตในปี 1919
แจ๊คเดอะริปเปอร์ (Jack The Ripper) คือช่างตัดผม ?
ปัจจุบันหลังจากเทคโนโลยีนิติเวชก้าวหน้าขึ้น จึงมีความพยายามในการเชื่อมโยงผู้ต้องสงสัย อารอน โคสมินสกี้ ว่าเป็น Jack The Ripper ผ่านการวิเคราะห์ DNA ที่หลงเหลืออยู่กับผ้าคลุมที่ถูกประมูลมา โดยเจ้าของผ้าคลุมดังกล่าวอ้างว่า ผ้าคลุมดังกล่าวเป็นผืนเดียวกับที่ใช้คลุมศพแคทเธอรีน เอ็ดโดเวส (Catherine Eddowes) หนึ่งในเหยื่อคดี Jack The Ripper จนเป็นงานวิจัยทางด้านนิติเวชศาสตร์ของ จารี เลาเฮไลเนน (Jari Louhelainen) ในการระบุตัว Jack The Ripper เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา หรือหลังจากผ่านไปกว่า 126 ปี นับตั้งแต่ Jack The Ripper ก่อคดี
งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า จากการตรวจสอบสารรหัสพันธุกรรม บนเซลล์ไมโทคอนเดรีย (Mitocondrial DNA: mtDNA) ซึ่งเป็น DNA ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกบนผ้าคลุมดังกล่าวนั้น พบชุด mtDNA ที่ตรงกับสายเลือดมารดาเดียวกันกับ แคทเธอรีน เอ็ดโดเวส และอีกสายนั้นตรงกับสายเลือดมารดาของอารอน โคสมินสกี้ โดยนำ mtDNA ของญาติทั้งฝั่งเอ็ดโดเวส และโคมินสกี้ มาเปรียบเทียบ หรือก็คือจากหลักฐานตามงานวิจัยสรุปว่า โคมินสกี้ คือ Jack The Ripper ตัวจริง
mtDNA เบื้องหลังความพยายามระบุตัวแจ๊คเดอะริปเปอร์ (Jack The Ripper)
ทั้งนี้ DNA บนไมโทคอนเดรีย (Mitocondrial DNA: mtDNA) เป็นประเภทรหัสพันธุกรรมที่ทำให้ทุกคนในสายมารดาเดียวกัน เช่น หากผู้ตายมีพี่น้อง แม่ รวมไปถึงป้า และน้า การตรวจ mtDNA ของทุกคนที่กล่าวมาก็จะตรงกันทุกคน แต่ตำรวจจะนำมาใช้ในกรณีที่ DNA จากนิวเคลียสของเซลล์ไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งอาจมาจากการเสื่อมสภาพหรือตัวหลักฐานที่ไม่มีนิวเคลียสเพื่อนำไปประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ แทน
ยกตัวอย่างเช่น “คดีน้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ปี ที่หายตัวไปในพื้นที่บ้านกกกอก จังหวัดมุกดาหาร ที่พบเส้นผมที่ไม่มีรากจึงขาดนิวเคลียสของเซลล์รากผม ทำให้ต้องใช้ mtDNA บนเส้นผมมาตรวจสอบแทนและกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการพิจารณาคดี
ขอรื้อคดีแจ๊คเดอะริปเปอร์ (Jack The Ripper) อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่เผยโฉมหน้า Jack The Ripper ในปี 2014 ซึ่งเชื่อว่าคืออารอน โคสมินสกี้ ช่างตัดผมชาวโปแลนด์ กลับได้รับเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งความน่าเชื่อถือของตัวอย่างที่ใช้สกัด mtDNA ไม่เคยอยู่ในรายการหลักฐานของตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด (Scotland Yard Police - ตำรวจนครบาลลอนดอน) รวมถึงการส่งต่อผ้าคลุมผ่านการประมูลอาจทำให้ mtDNA ของคนอื่น ๆ ปนเปื้อน และทำให้ผลการตรวจสอบคลาดเคลื่อนได้ และยังไม่รวมว่างานดังกล่าวตีพิมพ์โดยไม่ผ่านการตรวจสอบ (Peer Review) แต่อย่างใด
จารี เลาเฮไลเนน (Jari Louhelainen) เจ้าของงานวิจัยในปี 2014 จึงแก้ไขและส่งตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2019 แต่ก็ยังพบปัญหาความน่าเชื่อถือของข้อมูลในมุมมองทางวิชาการ รวมถึงปัญหาที่ไม่มีข้อมูลต้นทางเหลือให้ตรวจสอบซ้ำ จนทางวารสารต้องออกหนังสือเตือน (Expression of Concern) ที่ระบุปัญหาของงานวิจัยในปี 2024 ที่ผ่านมา
แม้ว่าจะมีปัญหาในเชิงวิชาการ แต่ รัสเซลล์ เอ็ดเวิร์ดส (Russell Edwards) ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่พยายามติดตามค้นหาความจริงคดี Jack The Ripper และเป็นคนที่นำผ้าคลุมมาเปิดเผย ก็ได้ใช้งานวิจัยของเลาเฮไลเนน มาเป็นมูลเหตุเพื่อร้องขอต่อศาลสูงอังกฤษในการพิจารณารื้อคดีอีกครั้งหลังผ่านมากว่า 137 ปี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ของทั้งฝั่งเอ็ดโดเวส และโคมินสกี้
ด้วยเหตุนี้ DNA จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญ ในการพยายามที่จะรื้อคดีแจ๊คเดอะริปเปอร์ (Jack The Ripper) ขึ้นมาสอบสวนอีกครั้ง โดยอ้างว่า mtDNA ที่ค้นพบบนผ้าคุลมที่อ้างว่าใช้คลุมตัวเหยื่อนั้นตรงกับ อารอน โคสมินสกี้ คือหลักฐานใหม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลักฐาน DNA ที่ค้นพบก็ยังมีความเคลือบแคลงถึงความถูกต้องในเชิงวิชาการเช่นกัน และถ้าหากมีรายงานว่าศาลสูงพิจารณาให้รื้อคดีได้ TNN Tech จะรายงานให้ทราบต่อไป
ที่มาข้อมูล : LAD Bible, Daily Mail, News Nation Now, Independent, Wikipedia
ที่มารูปภาพ : Wikicommons