ทำไมการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOs) จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ?

การค้นหาดาวเคราะห์น้อยนับเป็นหนึ่งในงานที่ท้าทายของนักดาราศาสตร์ เนื่องจากวัตถุเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีขนาดเล็ก แต่ยังสะท้อนแสงได้น้อย ทำให้ในบางครั้งนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยเพียงไม่กี่ชั่วโมงพุ่งชนโลก เช่น ดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 ขนาด 3 เมตร ถูกตรวจพบเพียง 2 ชั่วโมงก่อนที่มันจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเหนือไอซ์แลนด์ในเดือนมีนาคม 2022

รวมไปถึงดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ขนาด 40-90 เมตร ซึ่งถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2024 หรือประมาณ 2 วันก่อนมันจะโคจรเข้าใกล้โลก 45,000 กิโลเมตร โดยกล้องโทรทรรศน์ ATLAS ในประเทศชิลี นักดาราศาสตร์คำนวณว่ามันมีโอกาสชนโลกในปี 2032 ถึงประมาณ 3.1% จากการคำนวณครั้งล่าสุด

ดาวเคราะห์น้อยคืออะไร ?

ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) คือ ก้อนหินหรือโลหะขนาดเล็กในอวกาศ ที่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ โดยส่วนใหญ่พบในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดี วัตถุเหล่านี้เกิดจากเศษซากของระบบสุริยะเมื่อหลายพันล้านปีก่อน โดยมีขนาดตั้งแต่ไม่กี่เมตรจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร

ดาวเคราะห์น้อยบางดวงอาจเข้าใกล้โลกและเรียกว่า Near-Earth Objects (NEOs) ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกแล้วกว่า 13,280 ดวง ซึ่งบางดวงจะถูกติดตามเพื่อป้องกันการชนโลก

ทำไมการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOs) จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ?

สรุปข่าว

การค้นหาดาวเคราะห์น้อยเป็นงานท้าทาย เนื่องจากขนาดเล็กและสะท้อนแสงน้อย เช่น ดาวเคราะห์น้อย 2022 EB5 ถูกพบเพียง 2 ชั่วโมงก่อนชนโลก และ 2024 YR4 ถูกพบ 2 วันก่อนเข้าใกล้โลก ปัจจุบันมีโครงการสำรวจหลายแห่ง เช่น LINEAR, Catalina Sky Survey และ NEOWISE ที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

หน่วยงานที่รับผิดชอบการค้นหาดาวเคราะห์น้อย

ปัจจุบันมีองค์กรและนักดาราศาสตร์สมัครเล่นจากทั่วโลกที่ร่วมกันค้นหาดาวเคราะห์น้อยอย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบหอดูดาวอัตโนมัติอย่างน้อย 7 แห่ง ที่สแกนท้องฟ้าทุกคืนเพื่อหาวัตถุแปลกปลอม โครงการที่มีชื่อเสียงที่สุด เช่น โครงการวิจัยดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกของลินคอล์น (LINEAR) และ โครงการสำรวจท้องฟ้าคาตาลินา (Catalina Sky Survey) รวมไปถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE ของนาซาที่ยังทำหน้าที่สำรวจวัตถุเหล่านี้ผ่านการตรวจจับแสงอินฟราเรด

การตรวจจับและคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย

การตรวจจับดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Object: NEO) โดยการวิเคราะห์ภาพถ่ายท้องฟ้า นับเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่นักดาราศาสตร์ใช้ค้นหาดาวเคราะห์น้อย ซึ่งมีกระบวนการทำงานดังต่อไปนี้

การถ่ายภาพท้องฟ้าด้วยเลนส์ขนาดใหญ่พร้อมเซนเซอร์ที่แม่นยำสูง ทำการถ่ายภาพท้องฟ้าทุก ๆ คืน โดยเน้นพื้นที่บริเวณที่พบดาวเคราะห์น้อยได้บ่อยมากที่สุด 

คุณสมบัติหนึ่งของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก คือ มันมักเคลื่อนที่เร็วกว่าดาวฤกษ์ที่อยู่ด้านหลัง นักดาราศาสตร์จะเปรียบเทียบภาพถ่ายหลาย ๆ ภาพที่ถ่ายในช่วงเวลาต่างกัน เพื่อหาวัตถุที่เคลื่อนที่ โดยใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ภาพอัตโนมัติ เช่น การตรวจจับ "จุดเคลื่อนที่" (Moving dots) 

เมื่อตรวจพบวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นดาวเคราะห์น้อย นักดาราศาสตร์จะทำการวิเคราะห์ขนาดและระยะห่าง โดยใช้ความสว่างของดาวเคราะห์น้อยในภาพ (Magnitude) ร่วมกับสมการที่เกี่ยวข้องกับค่าสะท้อนแสง (Albedo) และตำแหน่งระยะห่างจากโลกและดวงอาทิตย์  

ที่มาข้อมูล : ESO/O. Hainaut et al.

ที่มารูปภาพ : ESO/O. Hainaut et al.