
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of the West of England Bristol และ Scotland’s Rural College ในสหราชอาณาจักร และอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก กำลังฝึกฝน AI ให้จดจำอารมณ์ของสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร สัตวแพทย์ และเจ้าของสัตว์เลี้ยง สามารถตรวจจับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานในสัตว์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ AI ในการวิเคราะห์สีหน้าและพฤติกรรมของพวกมัน

สรุปข่าว
สำหรับโปรแกรมแรกที่ใช้ในการวิเคราะห์สีหน้าของสัตว์เหล่านี้มีชื่อว่า Intellipig โดย University of the West of England Bristol และ Scotland’s Rural College ในสหราชอาณาจักรโปรแกรม AI นี้จะระบุสัญญาณของความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย หรือความทุกข์ทางอารมณ์ของหมูที่เป็นสัตว์ทดลอง และแจ้งเตือนต่อเกษตรกรเมื่อระบบตรวจพบความผิดปกติ ทำให้สามารถแก้ไขและปรับปรุงความเป็นอยู่ของปศุสัตว์ของตนได้อย่างรวดเร็ว
ต่อมาที่อีกโปรแกรมโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยไฮฟา (University of Haifa) จากประเทศอิสราเอล ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าสุนัขที่ใช้ในการตามหาสุนัขหาย ปัจจุบันกำลังฝึกฝน AI ให้สามารถระบุสัญญาณของความไม่สบายใจบนใบหน้าของสุนัข ซึ่งมีการเคลื่อนไหวใบหน้าถึง 38% ที่คล้ายกับมนุษย์
และอีกผลงานจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล (Universidade de São Paulo) ที่ได้มีการทดลองการใช้ภาพถ่ายใบหน้าม้าก่อนและหลังการผ่าตัด และก่อนและหลังการให้ยาแก้ปวด มาทำการวิเคราะห์ และฝึกฝนระบบ AI ให้จดจ่อกับดวงตา หู และปากของพวกมัน และพบว่า AI สามารถเรียนรู้ว่าสัญญาณใดบ้างที่บ่งบอกถึงความเจ็บปวดของม้า โดยการทดลองนี้มีอัตราความสำเร็จสูงถึง 88%
เทคโนโลยี AI อ่านใจสัตว์นี้มีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้เจ้าของและผู้ดูแลสัตว์เข้าใจความรู้สึกของสัตว์เลี้ยงได้ดีขึ้น และให้การดูแลที่เหมาะสม รวมถึงช่วยในการตรวจจับและป้องกันการทารุณสัตว์ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพฤติกรรมและอารมณ์ของสัตว์ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เทคโนโลยี AI อ่านใจสัตว์นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจระหว่างมนุษย์และสัตว์ และอาจนำไปสู่การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต ลองจินตนาการถึงวันที่เราสามารถพูดคุยและเข้าใจความต้องการของสัตว์เลี้ยงของเราได้คงจะดีไม่น้อย