
จีนเตรียมเปิดตัวยานอวกาศขนส่งสินค้าแบบใหม่จำนวน 2 ลำ เพื่อส่งทรัพยากรไปยังสถานีอวกาศเทียนกงภายในปี 2025 โดยใช้จรวดขนส่งเชิงพาณิชย์ ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศและการขยายตัวของผู้ให้บริการเอกชนในภาคอวกาศ
ภารกิจนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความมั่นคงในการจัดหาเสบียงให้กับสถานีอวกาศ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนในภาคอวกาศของจีน ยานอวกาศที่เข้าร่วมภารกิจนี้ประกอบด้วย "Haolong" จากสถาบันออกแบบอากาศยานเฉิงตู ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของ Aviation Industry Corporation of China (AVIC) และยานอวกาศ "Qingzhou" จากสถาบันนวัตกรรมสำหรับไมโครดาวเทียมแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (IAMCAS)
กระสวยอวกาศฮ่าวหลง (Haolong)
กระสวยอวกาศ Haolong ถูกออกแบบให้ทำภารกิจขนส่งทรัพยากรขึ้นสู่สถานีอวกาศและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โครงสร้างมีความยาว 10 เมตร และน้ำหนักประมาณ 7,000 กิโลกรัม พร้อมความสามารถในการลงจอดบนรันเวย์คล้ายเครื่องบิน ซึ่งช่วยส่งเสริมงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศเทียนกง โดยเฉพาะการนำฮาร์ดแวร์และตัวอย่างทดลองกลับมายังโลก
กระสวยอวกาศ Haolong จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรโดยจรวด Zhuque-3 ของบริษัท Landspace ซึ่งเป็นจรวดที่ใช้ก๊าซมีเทนและออกซิเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิง และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จรวด Zhuque-3 มีกำหนดทดสอบการบินครั้งแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2025 โดยบริษัท Landspace มีแผนจะปล่อยจรวดรุ่นนี้ให้ได้ 3 ครั้งภายในปีเดียวกัน
ยานอวกาศชิงโจว (Qingzhou)
ยานขนส่งทรัพยากรแบบโมดูลเดียวที่มีพื้นที่บรรทุก 27 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำหนักทรัพยากรได้ 1,800-2,000 กิโลกรัม โดยมีกำหนดปล่อยด้วยจรวด Kinetica-2 (Lijian-2) ของบริษัท CAS Space ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีรากฐานจาก Chinese Academy of Sciences
ภารกิจการขนส่งทรัพยากรทั้ง 2 ภารกิจ ของหน่วยงาน AVIC และ IAMCAS นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการบริหารจัดการสถานีอวกาศเทียนกง เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางหน่วยงาน China Aerospace Science and Technology Corporation หรือ CASC จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในภารกิจส่งยานอวกาศและโมดูลต่างๆ ของสถานีอวกาศเทียนกง
แนวทางดังกล่าวนี้คล้ายกับโครงการ Commercial Resupply Services (CRS) ของนาซาที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขนส่งสินค้าไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโครงการอวกาศ
ในปี 2025 นอกจากภารกิจขนส่งทรัพยากรขึ้นสู่สถานีอวกาศทั้ง 2 ภารกิจ จีนยังวางแผนส่งนักบินอวกาศอีก 2 ชุด คือ ภารกิจ Shenzhou-20 และ Shenzhou-21 ขึ้นสู่สถานีอวกาศเทียนกง รวมไปถึงยานขนส่งทรัพยากรในภารกิจ Tianzhou-9

สรุปข่าว