เทคโนโลยีจำลองยีนใหม่ ใช้รักษาเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเซลล์


งานวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเกาหลีใต้เสนอแนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีจำลองยีนของเซลล์ ย้อนเซลล์มะเร็งสู่สภาพปกติโดยไม่ทำลายเซลล์

แม้เทคโนโลยีการรักษามะเร็งจะพัฒนาไปอย่างมาก แต่เป้าหมายหลักของการรักษายังคงเน้นการกำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งวิธีนี้มักเผชิญกับข้อจำกัดสำคัญ เช่น เซลล์มะเร็งพัฒนาความต้านทานต่อการรักษา การกลับมาของโรค และผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการทำลายเซลล์ปกติ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ควัง ฮยอง ลี (Kwang Hyung Lee) ประธานสถาบัน KAIST มหาวิทยาลัยวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชั้นนำของเกาหลีใต้เปิดเผยว่ าศาสตราจารย์ควัง-ฮยอน โช (Kwang-Hyun Cho) จากภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพและสมอง และทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถรักษาโรคมะเร็งลำไส้ โดยเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับเซลล์ลำไส้ปกติ โดยไม่ต้องทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ทีมวิจัยมุ่งเน้นไปที่การสังเกตการณ์ระหว่างกระบวนการเกิดมะเร็ง ซึ่งมักจะพบว่าเซลล์จะมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ ทีมจึงได้พัฒนาเทคโนโลยี “ดิจิทัลทวิน” (Digital Twin) เพื่อสร้างแบบจำลองเครือข่ายยีนของเซลล์ปกติในช่วงกระบวนการพัฒนาดังกล่าวขึ้น

จากการจำลองข้อมูล ทีมวิจัยสามารถระบุ “สวิตช์โมเลกุลหลัก” (master molecular switches) ที่สามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งพัฒนากลับเป็นเซลล์ปกติได้อย่างเป็นระบบ เมื่อทดลองใช้สวิตช์เหล่านี้ในเซลล์มะเร็งลำไส้ พบว่าเซลล์มะเร็งกลับมามีลักษณะใกล้เคียงกับเซลล์ปกติ ผลลัพธ์นี้ได้รับการยืนยันทั้งจากการทดลองระดับโมเลกุล เซลล์ และการศึกษาในสัตว์ทดลอง

ผลงานวิจัยนี้ซึ่งแตกต่างจากการรักษาแบบดั้งเดิมอย่างการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด ที่มักเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อที่ไม่ใช่เนื้อร้ายและแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสร้างแบบจําลองยีนขั้นสูงเป็นวิธีการใหม่ที่มีแนวทางที่ชัดเจนและคาดหวังผลได้มากกว่าการรักษาในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์โชเน้นว่า งานวิจัยนี้เป็นการเปิดประตูบานใหม่ในการบำบัดมะเร็งแบบย้อนกลับ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเซลล์มะเร็งให้กลับมาเป็นเซลล์ปกติได้ อีกทั้งยังพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานในการระบุเป้าหมายการรักษาเซลล์มะเร็งโดยอาศัยการวิเคราะห์เส้นทางการพัฒนาของเซลล์ปกติ การค้นพบนี้ถือเป็นก้าวที่สําคัญสําหรับการพัฒนาการรักษามะเร็งแบบย้อนกลับ ที่สามารถนําไปใช้กับมะเร็งได้อีกหลายประเภท

ความสำเร็จนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเทศเกาหลีใต้และมูลนิธิวิจัยแห่งชาติเกาหลี (the National Research Foundation of Korea) ผ่านโครงการวิจัยระยะกลางและโครงการห้องปฏิบัติการวิจัยพื้นฐาน 

นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Science by Wiley เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ขณะที่ปัจจุบันได้มีการถ่ายโอน เทคโนโลยีดังกล่าวไปยังบริษัทไบโอรีเวิร์ต (BioRevert Inc.) เพื่อพัฒนาแนวทางการรักษามะเร็งแบบย้อนกลับที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต





เทคโนโลยีจำลองยีนใหม่ ใช้รักษาเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำลายเซลล์

สรุปข่าว

แท็กบทความ