
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2568 เปิดเผยว่า ได้มอบหมาย นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฯ เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2568) และได้รับทราบความคืบหน้าการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
โดยมีการจัดทำห้องปลอดฝุ่นแล้ว 16,246 ห้อง ใน 70 จังหวัด รองรับประชาชนได้ถึง 1.91 ล้านคน ล่าสุดมีผู้เข้ารับบริการสะสม 284,369 ราย สนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่น 1,363 ชุด ครอบคลุม 38 จังหวัด สนับสนุนหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 ให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่รวม 2.6 ล้านชิ้น สำหรับสำรองให้กลุ่มเสี่ยงใช้ได้ต่อเนื่อง 2 เดือน
ข้อสั่งการช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง
นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า คาดว่าช่วงต่อจากนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ(มากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม.) จึงมีข้อสั่งการถึงหน่วยงานส่วนกลาง ดังนี้
1) ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง
2) ทบทวนข้อมูลผู้ป่วยในระบบที่มีอาการเลือดกำเดาไหลในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง เพื่อนำมาพัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรค
3) สนับสนุนการทำห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
4) สื่อสารความรู้เกี่ยวกับหน้ากากอนามัยในการป้องกันการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะตามสถานการณ์
5) สื่อสารถึงประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และสำรวจความรู้ความเข้าใจของประชาชน หลังเสร็จสิ้นสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เพื่อนำข้อมูลไปปรับใช้ในการดำเนินงานครั้งต่อไป
6) ประสานรวบรวมข้อมูลการสนับสนุนหน้ากากอนามัยจากงบกองทุนตำบลจาก สปสช.

สรุปข่าว
สำหรับหน่วยงานส่วนภูมิภาค ให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตาม 4 มาตรการการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์รองรับประชาชนปลอดฝุ่น (Clean Room-Shelter) ในจังหวัดเสี่ยงสูง ตามมาตรการของคณะกรรมควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม
โดยใช้สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ของหน่วยราชการ อาคารอเนกประสงค์ ฯลฯ และจัดสภาพแวดล้อมตามแนวทางห้องปลอดฝุ่นของกรมอนามัย คือ มีเครื่องฟอกอากาศ/เครื่องปรับอากาศ ตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเครื่องมือมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่องทางเข้าออกเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ เมื่อค่าฝุ่นเกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ให้สำรวจประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กแรกเกิด - 15 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยติดเตียง พร้อมทั้งเตรียมมาตรการคัดกรองผู้ป่วยโรคติดเชื้อ และเมื่อค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกิน 75 มคก./ลบ.ม. หรือระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้เปิดศูนย์รองรับฯ และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเปราะบางเข้าพัก