
ความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน มาจากอัตราการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง ร้อยละ 22.9 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.3 ภายในปี 2593 ในปี 2564 มูลค่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุในไทยอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท คิดเป็น 8-10% ของตลาดอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ทั้งหมด และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 7.8% ต่อปี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยจะมีมูลค่าการจำหน่ายในประเทศเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ในช่วงปี 2566-2568 นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2570 มูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยจะสูงกว่าแสนล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% ต่อปี ระหว่างปี 2562-2570
ขณะเดียวกัน ธุรกิจ เครื่องมือแพทย์ในไทยยังมีปัจจัยที่ท้าทาย โดยข้อมูลจากวิจัยกรุศรี วิเคราะห์ปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่ง ผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ จึงเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง, ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องนำเข้าอุปกรณ์การผลิต ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงอาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและต้นทุนสินค้านำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การปรับตัวสู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรม/เทคโนโลยีมากขึ้นอาจมีข้อจำกัดด้านเงินทุน

สรุปข่าว
สำหรับประเทศไทย มีศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทย และสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศด้วยการทดแทนได้บ้าง โดยจุดแข็งของนวัตกรรม MTEC นอกจากคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตไทยสามารถผลิตได้แล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์บริบทการใช้งานของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลที่เป็นประชาชนทั่วไป และผู้ป่วยได้ โดยMTEC จะเน้นนวัตกรรมด้านสุขภาพ 3 เรื่อง ได้แก่ Medical devices (เครื่องมือแพทย์), Healthtech (เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ที่ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์), และ Food structure design (วัสดุศาสตร์อาหารและการออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย) ล่าสุด มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น รถบริการการแพทย์ฉุกเฉินรองรับโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยโครงสร้างรถ ระบบจัดการอากาศและระบบรับแจ้งฉุกเฉินดิจิทัล, ชุดพยุงหลังและเสริมแรงแบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับภารกิจทางการแพทย์ (Ross – Back support),อาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก, อุปกรณ์ฝึกหัตถการทางการแพทย์ที่ใช้การนำของอัลตราซาวด์, และวัสดุฝึกการเย็บแผล
ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า เทคโนโลยี 3D Printing และวัสดุชีวภาพนับเป็นก้าวสำคัญในการช่วยผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการอุปกรณ์เฉพาะบุคคล เช่น โครงกระดูกเทียม หรืออุปกรณ์เสริมเพื่อการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่ง ช่วยให้แพทย์สามารถออกแบบและผลิตอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเวลาเมื่อเทียบกับการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ม.ล. ชาครีย์ กิติยากร รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและคู่ความร่วมมือ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ความร่วมมือระหว่าง MTEC และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความรู้ด้านวัสดุศาสตร์เข้ากับการแพทย์ ซึ่ง จะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย และช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) มั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต ผลงานวิจัยหลายชิ้นจากความร่วมมือนี้มีศักยภาพสูงในการต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกาย (Ross – Back Support) คาดว่าความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้า และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมสุขภาพ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กล่าวว่า ข้อมูลอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ ปี 2566 มีมูลค่าตลาดราว 200,000 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 90,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 118,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีเป้าหมายใน 3 ปี จะลดการนำเข้าลง 5,600 ล้านบาท เช่น เครื่องมือแพทย์ฝังในร่างกาย, ถุงมือศัลยกรรม, ฟิลเลอร์, เครื่องมือแพทย์ AI เป็นต้น และเพิ่มการส่งออก 55,000 ล้านบาท เช่น เลนส์แก้วตาเทียม, ถุงมือทางการแพทย์, เครื่องมือแพทย์ AI และชุดตรวจวินิจฉัย เป็นต้น
ทั้งนี้ 1 ในนโยบายหลักของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่จะขับเคลื่อนในปี 2568 นี้ คือ การส่งเสริมศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อยกระดับให้เป็นกระทรวงด้านสังคมควบคู่เศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลก หรือ Medical & Wellness Hub ดังนั้น ต้องติดตามดูว่าการขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐและความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตเพิ่มขึ้นตามเป้าหรือไม่ เพราะการแพทย์ไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของชาวต่างชาติจำนวนมาก เนื่องจากไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
เรียบเรียงโดย : กาญธิกา อังคณิต
ที่มารูปภาพ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)