
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยตำรวจสอบสวนกลางและคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุโกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิล เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เช่าและผู้ให้เช่ามีการกระทำความผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี อาทิ มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการลักลอบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบตั้งโรงงานในพื้นที่ขัดผังเมืองและมีการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกสายไฟเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาทำการคัดแยกโลหะมีค่าและบดบ่อยเป็นเม็ดพลาสติกก่อนที่จะทำการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. และความผิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งหมด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด และได้ทำการยึดอายัดของกลางประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้าและเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้ว ปริมาณกว่า 6,900 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปนายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร ผลักดัน “สมุทรสาครโมเดล” ยกระดับมาตรการการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการอนุญาต โดยจะจัดให้มีคณะทำงานกลั่นกรองร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อร่วมกันให้ความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานคัดแยกหรือรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ เพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาครเพื่อร่วมกันเสริมกำลังให้กับชุดทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังการประกอบการที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการเฝ้าดูแลและบริหารจัดการของกลางที่ได้ทำการยึดอายัดเอาไว้ ควบคู่ไปกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เครื่องมือ “แจ้งอุต” ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาเผ้าระวังการประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสากรรม จะได้เตรียมหารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลเพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งจะต้องดำเนินการผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ในการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายและประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไร้มาตรฐานสินค้าไทย และยังนำออกจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน “แจ้งอุต” https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี “traffyfondue” เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที” นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

สรุปข่าว
ที่มาข้อมูล : กระทรวงอุตฯ
ที่มารูปภาพ : กระทรวงอุตฯ