กรมชลฯ รับมือลำตะคองแล้งหนักในรอบ 5 ปี

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากรมชลประทาน เผยสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2568 ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ปริมาณน้ำมีเพียงพอสามารถจะสนับสนุนได้ทุกกิจกรรมได้  โดยอ่างเก็บน้ำที่ต้องจับตามองคือพื้นที่อีสานตอนล่าง อย่าง เขื่อนลำตะคองที่เหลือน้ำเพียง 46 ล้านลบ.ม. หรือราวร้อยละ 22 ปัจจุบันมีการระบายน้ำออกวันละ 3-4 แสน ลบ.ม.ต่อวัน เท่านั้น   ซึ่งหากมีการระบายน้ำอยู่ในเกณฑ์นี้จะยังคงเพียงพอสำหรับใช้การตลอดฤดูแล้ง คือ ตั้งแต่เดือนมีนาถึงเมษายน

ทั้งนี้ ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้เร่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยมีการประชุมหารือกับหน่วยงานน้ำในพื้นที่ เพื่อเตรียมสำรองน้ำเพิ่มในแหล่งกักเก็บน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งดึงน้ำจากเขื่อนลำแชะที่มีอยู่ร้อยละ 46 เข้าไปเติม รวมถึงนับจากนี้ยังต้องมีการติดตามเฝ้าระวังแบบรายวัน เนื่องจากวิกฤตปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองถือว่าแล้งหนักที่สุดในรอบ 5 ปี 

ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ระบุว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เป็นผลทำให้เกิดฝนแช่หนักเป็นบางจุด ทำให้บางพื้นที่ฝนตกน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ อย่างเช่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ ส่งผลให้กักเก็บน้ำบริเวณอีสานตอนล่าง ได้น้อยกว่าพื้นที่อื่นทั่วประเทศ  

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ภาพรวมภัยแล้งปี 2568 ร่วมกันกับกรมอุตุนิยมวิทยา ถือว่าขณะนี้ยังคาดเดาได้ยากว่า จะปีนี้จะเกิดแล้งหนักหรือฝนตกหนัก เนื่องจากปรากฏการณ์สภาพอากาศมีความไม่แน่นอนสูง  ทั้งปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิก) , ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา และ กระแสลมในมหาสมุทรอินเดีย โดยต้องจับตา ทั้ง 3 ปัจจัยนี้อย่างเข้มข้น เพื่อรับมือกับวิกฤติภัยแล้งและภัยน้ำท่วม

ส่วนสถานการณ์น้ำตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันนี้เมื่อเทียบปีที่แล้ว มีปริมาณฝนตกน้อยกว่า ร้อยละ 3.3 มีน้ำใช้การมากกว่า 1,079 ล้าน ลบ.ม. แต่การใช้น้ำมากกว่าปีที่แล้ว 3,752 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงมีการเพาะปลูกมากกว่า 6 แสน 7 หมื่นไร่ หรือเพิ่มจากเดิมร้อยละ 9.14


 กรมชลฯ รับมือลำตะคองแล้งหนักในรอบ 5 ปี

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : canva