

สรุปข่าว
วันนี้ ( 31 ม.ค. 66 )ดาวหางสีเขียว ที่เคลื่อนตัวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนมานานหลายเดือน ได้รับการคาดหมายว่า จะเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดจนผู้คนสามารถมองเห็นได้ชัด เป็นครั้งแรกในรอบ 50,000 ปีในสัปดาห์นี้ โดยจะเคลื่อนตัวผ่านโลก ในระยะ 42.5 ล้านกิโลเมตร
ดาวหางดวงนี้ นักดาราศาสตร์ได้ตั้งฉายาว่า ก้อนหิมะสกปรก เนื่องจากดาวหางเป็นลูกบอลน้ำแข็ง ประกอบด้วยฝุ่น และหิน แต่ดาวหางสีเขียว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/2022 E 3 (ZTF) ถูกพบเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี 2022 โดยนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวปาโลมาร์ ในเมืองซานดิเอโก ขณะที่องค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซา มีแผนเฝ้าดูดาวหางสีเขียวด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ เพื่อจะช่วยให้เข้าใจรูปแบบของระบบสุริยะได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่นของนาซา ระบุว่า ดาวหางสีเขียว มีคาบการโคจรครบรอบนานราว 50,000 ปี หมายถึงว่า การโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นในของดาวหางสีเขียว ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงปลายยุคหินเก่า ตรงกับช่วงมนุษย์ยุคแรกเริ่มในยุคน้ำแข็ง
ข้อมูลจาก : รอยเตอร์
ภาพจาก : รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -