GISTDA พัฒนาระบบจัดการจราจรอวกาศ "ZIRCON" แจ้งเตือนการชนวัตถุอวกาศ

เทคโนโลยีอวกาศถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดาวเทียมและยานอวกาศต่าง ๆ ถูกส่งขึ้นไปทำภารกิจสำรวจในห้วงอวกาศจำนวนมาก ทำให้อวกาศกลายเป็นพื้นที่คับคั่งไปด้วยดาวเทียมและวัตถุต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ห้วงอวกาศเกิดความวุ่นวาย หรือนำไปสู่หายนะระดับรุนแรง จนส่งผลให้มนุษยชาติไม่อาจใช้งานอวกาศได้อีกเลย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จึงได้พัฒนาระบบจัดการจราจรอวกาศ ชื่อ ZIRCON เพื่อแจ้งเตือนการชนระหว่างดาวเทียมของไทยกับวัตถุอวกาศต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้บริการแจ้งเตือนจากต่างประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลได้


GISTDA พัฒนาระบบจัดการจราจรอวกาศ "ZIRCON" แจ้งเตือนการชนวัตถุอวกาศ

สรุปข่าว

GISTDA พัฒนาระบบจัดการจราจรอวกาศ ชื่อ ZIRCON เพื่อแจ้งเตือนการชนระหว่างดาวเทียมของไทยกับวัตถุอวกาศต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้บริการแจ้งเตือนจากต่างประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลได้

ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน หรือ ดร.คิม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ S-TREC และเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจร เปิดเผยว่า “ห้วงอวกาศก็เหมือนรถบนท้องถนน ที่ต้องมีการจัดการจราจร เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศเรื่อย ๆ มากกว่า 36,722 ชิ้น ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร ที่ระบบ ZIRCON สามารถติดตามได้”

“ZIRCON จะเฝ้าระวังวัตถุที่มีระยะโคจรเข้าใกล้กันน้อยกว่า 10 กิโลเมตร ถือเป็นค่าที่เหมาะสม เพราะวัตถุในอวกาศโคจรกันด้วยความเร็วประมาณ 7-8 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งเร็วมากจนข้อผิดพลาดเพียงวินาทีเดียว ก็อาจพุ่งชนกันจนสร้างความเสียหายได้ และดาวเทียมที่เสียหายไปก็อาจเกิดเป็นขยะอวกาศจำนวนมาก กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานห้วงอวกาศได้อีกเลย”

สำหรับการทำงานของระบบ ZIRCON จะมีการใช้ข้อมูลจากระบบการติดตามเฝ้าระวังวัตถุอวกาศ หรือ GARNET ที่คอยติดตามดูวัตถุในวงโคจรผ่านกล้องโทรทรรศน์บนโลก เพื่อนำไปวิเคราะห์วงโคจรโดยเจ้าหน้าที่ของ GISTDA ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงที่ดาวเทียมอาจชนกัน ระบบจัดการจราจรสามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้าถึง 7 วัน พร้อมช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงวงโคจรให้ประหยัดเชื้อเพลิง และไม่ทำให้ดาวเทียมไปเสี่ยงชนเข้ากับวัตถุอื่น ๆ ได้ โดยปัจจุบันระบบ ZIRCON มีการเฝ้าระวังดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียม THEOS-2 ที่ปฏิบัติงานอยู่ในวงโคจร เช่นเดียวกับติดตามซากจรวดที่อาจตกลงมาสร้างความเสียหายในประเทศไทยได้

นอกจากช่วยเฝ้าระวังและเพิ่มความปลอดภัยให้กับดาวเทียมของไทยแล้ว การพัฒนาระบบ ZIRCON ยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยทำให้อวกาศมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นในภาครวม จากการช่วยลดโอกาสเกิดขยะอวกาศชิ้นใหม่ และลดโอกาสการพุ่งชนกันของดาวเทียม ยานอวกาศ รวมไปถึงเศษซากวัตถุต่าง ๆ ที่ยังโคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูง เพื่อรักษาห้วงอวกาศให้ผู้คนรุ่นถัดไปยังสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อีกนาน ๆ

ขณะเดียวกัน ระบบ ZIRCON ที่ได้ใช้องค์ความรู้ด้านกลศาสตร์วงโคจร และการติดตามวัตถุต่าง ๆ บนอวกาศ ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรไทย ยกระดับความพร้อมของไทยในการพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดองค์ความรู้ จนถึงการสนับสนุนภารกิจและโครงการสำรวจอวกาศในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความสามารถของนักวิจัย วิศวกร และเจ้าหน้าที่ของ GISTDA ที่มีความพร้อมแก้ปัญหาโจทย์ยาก เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและโลก

สำหรับระบบ ZIRCON ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี รางวัลการวิจัยแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2568 และได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่ง ในผลงานที่ได้ถวายรายงานให้กับ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน ‘วันนักประดิษฐ์ 2568’  ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา