จีนรัฐประหารทางการทูตไต้หวัน ทยอยช่วงชิงพันธมิตร หวังโดดเดี่ยวไต้หวันในเวทีโลก
ไต้หวันกับสหรัฐฯ มีท่าทีอย่างไร หลังนิการากัวประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน หันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนแทน หนุนนโยบาย “จีนเดียว”
ไต้หวันออกแถลงการณ์ระบุว่าเสียใจที่นิการากัวไม่เห็นแก่สัมพันธ์ที่มีต่อกันมายาวนาน ขณะที่สหรัฐฯ มองว่าการตัดสินใจของผู้นำนิการากัว ไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชน เพราะการเลือกตั้งล่าสุดที่ผ่านมาของนิการากัวเป็นเรื่องหลอกลวง
---โต้สหรัฐฯ หนุนไต้หวันเกินหน้าเกินตา---
การตัดสินใจตัดสัมพันธ์กับไต้หวันของรัฐบาลนิการากัว ถูกมองว่าเป็นการโต้กลับสหรัฐฯ ที่หนุนหลังไต้หวัน หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างนิการากัวกับสหรัฐฯ ร้าวฉานมานานหลายเดือนแล้ว
สหรัฐฯ มองว่าการเลือกตั้งล่าสุดในนิการากัวไม่โปร่งใส และสั่งคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่นิการากัวเป็นการลงโทษ ทำให้ตอนนี้มีเพียง 14 ประเทศ ที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่
เดวิด มอนคาดา รัฐมนตรีต่างประเทศนิการากัว แถลงเมื่อวานนี้ (9 ธันวาคม) ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตที่มีมาอย่างยาวนานกับไต้หวัน และหันไปรับรองจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
และระบุว่า นิการากัวจะยุติความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ รวมทั้งยุติการติดต่อใดๆ กับไต้หวันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และรับรองว่า จีนแผ่นดินใหญ่เป็นเพียงรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียว ที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งมวล และไต้หวันเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ของดินแดนจีน
---เหลือ 14 ประเทศที่รับรองไต้หวัน---
การที่นิการากัวตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ส่งผลให้จำนวนประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันที่มีน้อยอยู่แล้ว ลงเหลือ เพียง 14 ประเทศ จากเดิม 15 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในลาตินอเมริกา ทะเลแคริบเบียน และประเทศเล็ก ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ได้แก่ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นครรัฐวาติกัน เฮติ ปารากวัย เอสวาตินี ตูวาลู นาอูรู เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเชีย เบลีซ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และปาเลา
---ท่าทีของไต้หวัน---
ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันออกแถลงการณ์ว่า รู้สึกเสียใจและผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ผู้นำนิการากัวไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ยืนยาวร่วมกันมานานอีกต่อไป
พร้อมกับระบุว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก รัฐบาลไต้หวันมีสิทธิและความชอบธรรม ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือกับประเทศใดก็ได้
---ท่าทีของจีน---
นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ระบุว่า รู้สึกชื่นชมและแสดงความยินดีต่อการดำเนินการของรัฐบาลนิการากัว ที่บ่งชี้ให้เห็นอีกครั้งว่า หลักการจีนเดียว เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นพื้นฐานของการสถาปนาความสัมพันธ์ ที่ไม่สามารถท้าทายได้
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า คณะผู้แทนจากจีนและนิการากัวกำลังจัดการเจรจากัน ที่เมืองเทียนจินของจีนในวันนี้ (10 ธันวาคม)
---ท่าทีของสหรัฐฯ---
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์หลังความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนิการากัว เรียกร้องให้ ทุกประเทศให้ความสำคัญกับสถาบันประชาธิปไตย และขยายการมีส่วนร่วมกับไต้หวัน
และระบุว่า ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดี แดเนียล ออร์เตกา ไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงของชาวนิการากัว เนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของนิการากัวนั้น เป็นเรื่องหลอกลวง และสิ่งนี้กีดกันชาวนิการากัวที่เป็นหุ้นส่วนที่แน่วแน่ในการเติบโตทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย
ก่อนการเลือกตั้งนิการากัว ฝ่ายตรงข้ามประธานาธิบดีถูกสั่งจำคุก เกือบ 40 คน โดย 7 คนเป็นลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อให้แน่ใจได้ว่าประธานาธิบดีออร์เตกา จะชนะการเลือกตั้ง และภริยาของเขาได้เป็นรองประธานาธิบดี
ทั้งนี้ สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยออนไลน์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้เชิญผู้นำประเทศและดินแดนกว่าร้อยแห่งเข้าร่วมประชุม รวมทั้งไต้หวันด้วย แต่ไม่ได้เชิญจีน
คาดว่า ในที่ประชุมจะมีการประกาศปฏิญญาร่วมกันเพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้จีนไม่พอใจและระบุว่า การจัดประชุมของสหรัฐฯ เช่นนี้ เป็นการสร้างความแตกแยก และทำให้ทั่วโลกเกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่า อ้างตัวว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน แต่กลับซุกซ่อนความดำมืดและความเจ้าเล่ห์ของตัวเองเอาไว้
---รัฐประหารทางการทูตโดยจีน---
AFP มองว่า การประกาศดังกล่าวเป็นการทำรัฐประหารทางการทูตสำหรับจีน เป็นความพยายามทำให้ไต้หวันโดดเดี่ยวในเวทีโลก ขณะที่ไต้หวัน กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการกับหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา
จีนใช้เวลาหลายสิบปี ในการส่งเสริมให้พันธมิตรทางการทูตของไต้หวันเปลี่ยนข้างจนสำเร็จ รวมถึง สามชาติในละตินอเมริกา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ปานามา เอลซัลวาดอร์ และสาธารณรัฐโดมินิกัน
---หลายชาติทยอยหันซบจีน---
นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่ไต้หวันถูกตัดสัมพันธ์จากประเทศที่เคยให้การยอมรับ หลังจาก 2 ปีก่อน คิริบาตีและหมู่เกาะโซโลมอน ก็ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน หันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนในปี 2019
ก่อนหน้านี้ ว่าที่รัฐบาลใหม่ของฮอนดูรัสก็เคยขู่ว่าจะตัดสัมพันธ์กับไต้หวันเช่นกัน แต่หลังจากที่ประธานาธิบดี ซิโอมารา คาสโตร ผู้นำคนใหม่ของฮอนดูรัสขึ้นครองอำนาจ หลังเพิ่งชนะเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่แวดล้อมประธานาธิบดีคาสโตร ดูเหมือนจะกลับลำล่าถอยจากการขู่ตัดสัมพันธ์กับไต้หวันไป
—————
แปล-เรียบเรียง: เสาวณีย์ พิสิฐานุสรณ์ และ สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Philip FONG / AFP